กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้การต้อนรับและร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำโดย ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. เพื่อรับฟังการนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง "ปลดล็อก SMEs ไทย ปรับตัวอย่างไรให้เติบโต" ณ สำนักงานใหญ่ บสย. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดทำการสำรวจและศึกษาปัญหาอุปสรรค ตลอดจนการปรับตัวของ SMEs ไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 2,400 รายทั่วประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลแก่ บสย. ในการนำผลการศึกษา และข้อเสนอแนะที่ได้ไปพัฒนาระดับนโยบาย เพื่อช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน และสนับสนุน SMEs ให้เป็นฐานที่มั่นคงของเศรษฐกิจไทย กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการค้า บริการ ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง และภาคเกษตร
ผลสำรวจพบว่า ปัญหาสำคัญของ SMEs ไทย มาจาก 2 ปัจจัยคือ 1.ด้านต้นทุน และ 2.การแข่งขันที่รุนแรง โดยด้านต้นทุนมาจากต้นทุนธุรกิจและต้นทุนแฝง เช่น การติดต่อกับภาครัฐและการขอสินเชื่อ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ขอเอกสารมาก และใช้เวลานาน รวมถึงการแข่งขันที่มาจากการเติบโตของ E-Commerce และธุรกิจขนาดใหญ่ขยายสาขา ส่วนปัจจัยภายนอกที่ทำให้การเติบโตและการปรับตัวของ SMEs มีความท้าทายมากขึ้นสำหรับ กลุ่ม SMEs เมืองรอง คือ 1.ตลาดเล็ก ทำให้ต้องแข่งขันรุนแรงกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัวเข้ามาในพื้นที่ 2.แรงงานขาดแคลน ซึ่งเกิดจากการย้ายถิ่นฐานไปสู่เมืองหลัก ธุรกิจขนาดใหญ่ดึงดูดแรงงาน และคนรุ่นใหม่ชอบทำงานในสำนักงาน 3.โครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวย ถนนชำรุด ค่าขนส่งที่แพงกว่า และ ปัญหาการเข้าถึงของอินเตอร์เน็ตไม่ครอบคลุม
ทั้งนี้ ธปท.ได้เสนอ 3 แนวทางการส่งเสริม SMEs ให้มีศักยภาพ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. ได้แก่ 1.การกำหนดเป้าหมายหลักและรองให้ชัดเจน เช่น กลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มไมโคร SMEs บัญชีเดียว อุตสาหกรรม S-Curve ซัพพลายเชนและกลุ่ม SMEs ไฮเทค 2.เพิ่มเกณฑ์คัดกรองความเสี่ยงของ SMEs โดยพิจารณาศักยภาพการดำเนินธุรกิจควบคู่กับระดับการปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การเพิ่มมิติการประเมินความเสี่ยงให้ครอบคลุมปัจจัยภายใน และภายนอกที่กระทบการดำเนินธุรกิจของ SMEs ในแต่ละอุตสาหกรรม 3.การทบทวนสัดส่วนและวงเงินค้ำประกันสำหรับ SMEs ที่มีศักยภาพและกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง