กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เผยผู้ป่วยทางจิตหลังบำบัดรักษาแล้วกลับมาป่วยซ้ำขณะอยู่ที่บ้านสูงถึงร้อยละ 60 เหตุจากขาดยา ไม่ยอมรับการเจ็บป่วย ทำให้อาการแย่ลง ในปีที่ผ่านมาพบมีอาการกำเริบและต้องรับตัวรักษา 208 คน เร่งป้องกันโดยจัด 4 ระบบการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านและชุมชนครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องมือเยี่ยมบ้านประเมินปัญหาผู้ป่วย 10 ด้าน และ ธงแดงแสดง 5 พฤติกรรมเตือนก่อนอาการทางจิตกำเริบให้ญาติใช้เฝ้าระวัง หากพบเพียง 1 อาการ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยโรคทางจิต ซึ่งเกิดมาจากสมองทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมต่างจากคนปกติทั่วไป เช่นมีหูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง มีความคิดว่าตัวเองมีพลังอำนาจเหนือมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ที่อยู่ในความดูแล 4 จังหวัด ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคทางจิตประมาณ 43,000 คน ที่พบอันดับ 1 คือโรคจิตเภท (Schizophrenia) มีประมาณ 35,000 คน ผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ร้อยละ 81 ในปีนี้ตั้งเป้าครอบคลุมให้ได้ร้อยละ 90
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยจิตเวชในเขตสุขภาพที่ 9 ที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อนที่มีปีละเกือบ 4,000 คน เช่น ในรายป่วยจิตเภทและใช้สารเสพติดด้วย หรือรายที่มีประวัติทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น เป็นต้น ภายหลังจากรักษาฟื้นฟูจนอาการสงบดีและกลับไปอยู่ที่บ้านได้แล้ว จะป่วยซ้ำสูงถึงร้อยละ 60 เนื่องจากการขาดยา ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 90 รวมทั้งเกิดมาจากการไม่ยอมรับการเจ็บป่วยของตัวเอง การใช้สารเสพติด และขาดผู้ดูแล ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น ยิ่งอาการกำเริบถี่เท่าใดก็จะยิ่งส่งผลให้อาการผู้ป่วยแย่ลง ในปี 2561 พบผู้ป่วยมีอาการป่วยกำเริบและต้องรับตัวเข้ารักษาซ้ำจำนวน 208 คน ในปีนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้แก้ไขปัญหาโดยจัดระบบการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านและในชุมชนเชื่อมโยงกับรพ.ชุมชนและรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในเขตสุขภาพที่ 9 ทั้งหมด เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในระบบการดูแลจนหายขาด ลดปัญหาป่วยกำเริบซ้ำ มีคุณภาพชีวิตดี สร้างความปลอดภัย ความมั่นใจในชุมชน เน้น 4 ระบบหลักคือ 1.การเยี่ยมบ้านติดตามอาการผู้ป่วย ซึ่งทีมเจ้าหน้าที่ในชุมชนจะออกเยี่ยมทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง 2.การเฝ้าระวังความเสี่ยงผู้ป่วยอาการกำเริบ
3.การบริการจิตเวชฉุกเฉิน และ4.การฟื้นฟูสมรรถภาพให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันและประกอบอาชีพได้ตามศักยภาพ โดยมีระบบการสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่และญาติอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้พัฒนาเครื่องมือ ใช้ประกอบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและในชุมชน 2 ชุด ชุดแรกคือ แบบประเมินคัดกรองปัญหาอาการของผู้ป่วยทั้งปัญหาเดิมและปัญหาใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม. ใช้ประเมินขณะเยี่ยมบ้านครอบคลุม 10 ด้านได้แก่ อาการทางจิต การกินยา ผู้ดูแลหรือญาติ การทำกิจวัตรประจำวัน การประกอบอาชีพ สัมพันธภาพ สิ่งแวดล้อมในบ้าน ที่อยู่อาศัย การสื่อสารในครอบครัว ความสามารถในการเรียนรู้เบื้องต้นและการใช้สารเสพติดต่างๆ ที่เป็นข้อห้ามสำคัญ เช่นเหล้า บุหรี่ ยาบ้า เป็นต้น หากพบปัญหาจะสามารถวางแผนแก้ไขป้องกันอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับบริบทของผู้ป่วย
เครื่องมือชุดที่ 2 คือ ธงแดง เพื่อให้ญาติหรือผู้ดูแลใช้เฝ้าระวังพฤติกรรมความเสี่ยงผู้ป่วยจะมีอาการทางจิตกำเริบ ที่สำคัญ 5 อาการ ได้แก่ 1. ไม่หลับไม่นอน ได้แก่ มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ ไม่ยอมนอน หลับๆ ตื่นๆ 2. เดินไปมา ได้แก่ผุดลุกผุดนั่ง นั่งไม่ติด เดินไปเดินมา มีพฤติกรรมแปลกๆ 3. พูดจาคนเดียว ได้แก่ พูด ยิ้ม หัวเราะคนเดียว 4. มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว คือมีอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว และ5. เที่ยวหวาดระแวง คือมีอาการหวาดระแวง คิดว่าคนไม่หวังดีนินทาว่าร้าย มีคนคอยติดตามจะทำร้าย ถูกกลั่นแกล้ง หากพบว่ามีพฤติกรรมข้อใดข้อหนึ่ง ให้ญาติหรือผู้ดูแล แจ้งเจ้าหน้าที่รพ.สต. เพื่อดำเนินการวางแผนให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที อาจดูแลได้ที่บ้านหรืออาจส่งห้องฉุกเฉินรพ.ชุมชน ขึ้นอยู่กับอาการความเร่งด่วน