กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ
ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) หน่วยงานภายใต้สังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการร่วมกับ 21 เครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม ในพื้นที่ อำเภออมก๋อย, อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.), สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.), โรงพยาบาล, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), สำนักงานส่งเสริมการศีกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), โรงเรียน, มูลนิธิรักษ์ไทย, สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) และองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (PLAN)) จัดการประชุมติดตามเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและเสริมพลังภาคีเครือข่ายการส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ ในวันที่ 10 เมษายน 2562 ณ โรงแรมเลวิว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน วิเคราะห์ข้อมูล หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ตามบริบทในพื้นที่ และพัฒนาแนวทางการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีนายแพทย์สุรพันธ์ แสงสว่าง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ เป็นประธานในพิธี และ ดร.จตุพร วิศิษฎ์โชติอังกูร เป็นวิทยากรนำการประชุม บรรยากาศการประชุมมีการถอดบทเรียนสถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ การระดมความคิดเกี่ยวกับสถานการณ์และทางออกของปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์ และรูปแบบที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ เพื่อจัดทำร่างแผนการดำเนินงานและเสริมพลังภาคีเครือข่ายการส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลุ่มชาติพันธุ์
ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี และอายุ 15-19 ปี เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) เป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยที่นานาชาติต้องการบรรลุให้ได้ภายในปี 2573 สำหรับประเทศไทยปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรวัยรุ่น รวมถึงส่งผลเสียต่อประเทศชาติ เศรษฐกิจ และสังคม จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการครอบครัว ท้องถิ่น สถานประกอบการ และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ดี กลุ่มชาติพันธุ์เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอัตลักษณ์ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น การดำเนินการจากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน จึงต้องคำนึงถึงความสอดคล้องเหมาะสมกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี บรรทัดฐาน ภาษา และความเชื่อ