กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร เผยยอดเกษตรกรล่าสุดเกือบ 300 ครัวเรือน ผ่านการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์เข้ารับความช่วยเหลือกรณปลูกพืชหลังนาแล้ว ย้ำผู้สนใจยังสมัครได้ถึง 15 ส.ค.62 โดยตรวจสอบเงื่อนไขเวลารับสมัครในแต่ละพื้นที่
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากรายงานติดตามความก้าวหน้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 พบเกษตรกรแจ้งขอปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2561/62 กว่า 2 แสนครัวเรือน พื้นที่รวมเกือบ 2 ล้านไร่ โดยผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการระดับตำบลเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 3,668 ครัวเรือน พื้นที่รวม 27,907.24 ไร่ ทั้งนี้ กรรมการระดับอำเภอลงนามแล้ว จำนวน 294 ครัวเรือน พื้นที่รวม 2,102.36 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ค.62) โดยการสมัครเข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ขณะนี้อยู่ในช่วงรับสมัคร ตรวจสอบและรับรองสิทธิ์เกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ จนถึง 31 พ.ค.62 ส่วนพื้นที่ภาคใต้ สามารถปรับปรุง/ขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ตั้งแต่บัดนี้ - 15 ก.ค.62 ซึ่งจะเปิดรับสมัคร ตรวจสอบและรับรองสิทธิ์เกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ จนถึง 15 ส.ค.62 และพื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่ลุ่มต่ำและภาคใต้ เกษตรกรสามารถปรับปรุง/ขึ้นทะเบียนเกษตรกร และสมัครเข้าร่วมโครงการตามขั้นตอนได้ตั้งแต่บัดนี้ - 31 พ.ค.62 ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำและศัตรูพืชซึ่งสูงกว่าฤดูกาลปกติ ในอัตราไร่ละ 600 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน 9,000 บาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ควบคู่กับสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร รักษาศักยภาพการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับคุณสมบัติเกษตรกรและเงื่อนไขที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ประกอบด้วย 1.มีสัญชาติไทย บรรลุนิติภาวะ 2.เป็นหัวหน้าครัวเรือน 1 สิทธิ์/ครัวเรือน (ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร) 3.พื้นที่ปลูกมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย 4.ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนาปี 61/62 ในแปลงปลูกข้าวนาปี ในรอบ 3 ปี (2559-2561) ปีใดปีหนึ่ง พื้นที่ 1 งานขึ้นไป แต่ไม่เกิน 15 ไร่ 5.หากปลูกพืชหลังนามากกว่า 1 ชนิด เลือกชนิดพืชขอรับการช่วยเหลือได้ รวมกันไม่เกิน 15 ไร่/ครัวเรือน 6.กรณีปลูกพืชอายุสั้นหลายรอบการผลิตในพื้นที่เดียวกัน เช่น พืชผัก ขอรับการช่วยเหลือได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น 7.หากเปลี่ยนแปลงเลขที่เอกสารสิทธิ์ใหม่ เช่น แบ่งโฉนดแบ่งขาย เปลี่ยนเลขที่โฉนด ฯลฯ ต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบสิทธิ์โครงการฯ ระดับตำบลตรวจสอบว่าเป็นพื้นที่นาที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ 8.เปิดบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. โดยพืชที่ร่วมโครงการนี้ได้คือพืชผักและพืชไร่ ยกเว้น อ้อย สับปะรด พืชปรับปรุงบำรุงดิน พืชปุ๋ยสด ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล และไม้ยืนต้น ที่ปลูกหลังทำนาปี ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง และต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถยื่นขอรับสิทธิ์ช่วยเหลือตามโครงการนี้ได้ตามพื้นที่ปลูกจริง ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการช่วยเหลืออื่นของภาครัฐที่มีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกัน ในปี 2561/62 และได้รับการช่วยเหลือแล้ว เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2562 โครงการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งอื่นใด ซึ่งพื้นที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจากแปลงเดียวกันที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือสามารถเข้าร่วมได้ โดยสามารถแจ้งยืนยันขอรับสิทธิเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 ได้ด้วยตนเองที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก และนำเอกสารหลักฐาน ประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชน และใบมอบอำนาจ หากไม่สามารถมาด้วยตนเอง
อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2560/61 ประเทศไทยปลูกข้าวนาปี-นาปรังได้ผลผลิตรวม 32.63 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเกินความต้องการของตลาด แต่พืชหลากหลายอื่น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังไม่พอป้อนตลาด จึงขอเชิญชวนเกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งมีโครงการรัฐสนับสนุน จะทำให้มีรายได้ดีกว่าข้าว ช่วยป้องกันปัญหาราคาและผลผลิตข้าวล้นตลาด ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอคำแนะนำช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน