กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ
จากกรณีที่กรมควบคุมโรคได้ออกคำเตือนถึงให้ผู้ปกครองและคุณครูระวังกรณีเด็กติดในรถเพราะเป็นช่วงที่เด็กๆ เตรียมจะเปิดเทอมแล้วนั้น ล่าสุดสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกมาแนะนำถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากท่านพบเห็นเหตุการณ์เด็กติดในรถด้วยเช่นกัน โดย เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า กรณีของเด็กติดในรถไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัวไหน แต่ตนอยากให้ทุกๆคนเรียนรู้วิธีในการช่วยเหลือหากเราพบเห็นเด็กติดในรถ เพราะเมื่อเราเจอเหตุการณ์จริงเราจะได้ช่วยเหลือเด็กได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี ระบุอย่างชัดเจนว่า เด็กที่ติดในรถส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจหากแต่เสียชีวิต เพราะอากาศที่อยู่ในรถมีอุณหภูมิที่อยู่ขึ้น โดยใช้เวลาเพียง 5 นาที อุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นจนเด็กไม่สามารถอยู่ได้ ยิ่งนานเกิน 10 นาที ร่างกายของเด็กจะแย่ และภายใน 30 นาทีเด็กอาจหยุดหายใจ และอวัยวะทุกอย่างหยุดทำงานจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากท่านพบเห็นเหตุการณ์เด็กติดอยู่ในรถ แล้วเด็กหมดสติหรือหยุดหายใจ สิ่งแรกที่ท่านจะต้องทำคือโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อประสานเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาทำการช่วยเหลือเด็กให้ได้อย่างทันท่วงที และในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ ให้รีบเข้าทำการช่วยเหลือโดยนำเด็กออกมาจากรถ และนำไปอยู่บนพื้นราบที่อากาศปลอดโปร่งพร้อมกับทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) เบื้องต้นในเด็กทันที
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) กล่าวว่าการทำ CPR ในเด็กเล็กจะแตกต่างกับการทำ CPR ในผู้ใหญ่เล็กน้อย โดยมีขั้นตอนการทำ CPR เด็กเล็กมีดังนี้ เมื่อปลุกเรียกแล้วสังเกตว่าเด็กส่งเสียงหรือเคลื่อนไหวหรือไม่ ถ้าไม่ตอบสนอง ไม่เคลื่อนไหว ให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพทันที โดยให้คนที่อยู่ใกล้ๆรีบไปโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 ส่วนท่านรีบประเมินเด็กทันทีว่ายังหายใจอยู่หรือไม่ ถ้าเด็กไม่หายใจให้รีบทำการช่วยฟื้นคืนชีพทันที โดยรีบนำเด็กลงมาวางบนพื้นราบแข็ง วางส้นมือข้างหนึ่งไว้ตรงกึ่งกลางหน้าอกระดับแนวราวนมแล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งวางบนหน้าผากของเด็กพยายามให้เด็กหงายหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ ทำการกดหน้าอก 30 ครั้ง โดยกดให้ลึกลงไปประมาณ 1/3 ของความหนาของหน้าอก การกดแต่ละครั้งต้องต่อเนื่อง อัตราเร็วประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที สลับกับการช่วยหายใจ โดยการกดหน้าผาก เชยคาง บีบจมูก ประกบปากให้สนิทแล้วเป่าลมเข้าไป 2 ครั้ง ให้ทำสลับกันเช่นนี้ต่อไปจนครบ 5 รอบหรือนานประมาณ 2 นาที แล้วประเมินซ้ำทุกๆ 5 รอบหรือ 2 นาทีว่าเด็กกลับมาหายใจได้เองหรือไม่ ถ้ายังไม่หายให้ทำต่อไปเรื่อยๆอย่าหยุด จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึงและเข้ามาให้ความช่วยเหลือและนำเด็กส่งต่อไปยังโรงพยาบาล
"อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะช่วยให้เด็กรอดและปลอดภัยที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่หรือคุณครูจะต้องดูแลเด็กๆ ให้ดี หากทำได้ผมอยากให้พ่อแม่หรือคุณครูสอนเด็กๆ ให้รู้จักการเอาตัวรอดเมื่อติดอยู่ในรถ เช่น สอนการเปิดกระจกรถ การปลดล็อครถ การบีบแตรรถให้มีเสียงเพื่อขอความช่วยเหลือ และอยากย้ำว่าเราไม่ควรปล่อยเด็กไว้ในรถตามลำพัง ถึงแม้จะแง้มกระจกรถไว้ก็ไม่ควรทำทุกกรณี เมื่อท่านจะต้องลงจากรถเพื่อไปทำธุระก็ควรนำเด็กลงไปด้วย และคุณครูก็ควรจัดทำรายชื่อของเด็กที่ขึ้นมาในรถ และก่อนลงรถควรเช็ครายชื่อของเด็กๆ ทุกคนดูอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเด็กลงจากรถครบแล้วทุกคนหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เด็กติดในรถเกิดขึ้นอีก" เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะกล่าว