กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--ซีพีเอฟ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผลักดันองค์กรธุรกิจปลูกฝังพนักงานในทุกระดับมีส่วนร่วมคิดและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม สอดรับแนวทาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ต่อยอดองค์ความรู้พนักงาน ชูนวัตกรรมขับเคลื่อนองค์กรและสังคมยั่งยืน
นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจไม่เพียงจัดกิจกรรมด้าน CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กร แต่มีการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมหรือ Social Innovation มาใช้พัฒนาสิ่งใหม่ๆ นำแนวคิดใหม่ เทคโนโลยีที่เหมาะสม เข้ามาช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นวัตกรรมเพื่อสังคมจึงเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับได้แสดงความคิดและมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและสังคมสู่ความยั่งยืน
"เราต้องพยายามทำนวัตกรรมให้อยู่ใน DNAของพนักงานทุกระดับในองค์กร ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กร และเป็นการนำองค์ความรู้ไปช่วยเหลือสังคม อาทิ ซีพีเอฟซึ่งดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ก็สามารถทำโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรวางแผนในการเพาะปลูก ให้ได้ผลผลิตที่เหมาะสมกับการผลิตของโรงงาน ทำให้เกษตรกรมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้ " รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สนง.นวัตกรรมฯ กล่าว
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟเป็นองค์กรที่ส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรมและให้ความสำคัญกับพนักงาน โดยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา บริษัทฯได้จัดให้มีการอบรมหลักสูตรฝีกอบรมพัฒนาขีดความรู้ความสามารถของผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน ( CSR Leader ) เพื่อสนับสนุนให้ CSR Leader พัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เสริมสร้างโอกาสในการคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อาทิ การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การต่อยอดโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) นอกจากนี้ ในระยะต่อไป บริษัทฯ ยังได้วางเป้าหมายพัฒนารูปแบบของโครงการต่างๆสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE ) หรือกิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นายฤทธิ์ติกร สมปาน ผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน (CSR Leader) ธุรกิจครบวงจรภาคเหนือ กล่าวว่า หลักสูตรทิศทางขับเคลื่อน CSR ขององค์กรที่จัดขึ้นในปีนี้ ช่วยให้เตรียมตัวรับมือความท้าทายในด้านของนวัตกรรมทางสังคม ทำให้สามารถนำข้อมูลความรู้ไปประยุกต์ใช้สร้างสรรสิ่งดีๆ ตอบแทนสังคม ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืนของซีพีเอฟ ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมสนับสนุนและผลักดันทุกแนวความคิด ทุกองค์ความรู้ของแต่ละธุรกิจภายใต้ซีพีเอฟให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อยกระดับสังคมและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตอย่างยั่งยืน
"ที่ผ่านมา ได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากการเข้าอบรมฯ มาใช้กับงานดูแลชุมชนและโครงการที่รับผิดชอบ เช่น โครงการซีพีเอฟ อิ่มสุข ปลูก อนาคต ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงอาหารและการบริโภคอย่างเพียงพอของเยาวชนรอบโรงงานและฟาร์มของบริษัท นอกจากนี้ ยังนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการเรียนรู้เกี่ยวกับสวนป่า สวนป่ารักษ์นิเวศหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร โครงการน้ำปุ๋ยมูลสุกรสู่ชุมชน โครงการแก๊สชีวภาพจากฟาร์มหมูสู่ชุมชน เป็นต้น " CSR Leader ธุรกิจครบวงจรภาคเหนือ กล่าว
ซีพีเอฟร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ บริษัท ซีพีเอฟเทรนนิ่งเซนเตอร์ จำกัด จัดหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาขีดความรู้ความสามารถของ CSR Leader ตั้งแต่ปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้และเข้าใจเป้าหมายการขับเคลื่อนCSR ขององค์กร ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโครงการที่มีแนวปฏิบัติที่ดีให้สามารถนำไปพัฒนาโครงการที่ปฏิบัติได้ รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจแนวทางนวัตกรรมเพื่อสังคมและกิจการเพื่อสังคม ซึ่งในปี 2562 นี้ ได้จัดอบรมหลักสูตรทิศทางการขับเคลื่อน CSR โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกมาให้ความรู้ในหัวข้อ นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) และ หัวข้อ CSR/SE กับการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่ยั่งยืน โดยปัจจุบันซีพีเอฟมี CSR Leader รวม 106 คน ./