กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--เวิรฟ พับบลิค รีเลชั่นส์ คอนซัลแตนท์ซี
ช่วงที่ 1 ภาครัฐ – Government
คุณศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเริ่มต้นเพื่อเข้าถึงการเสวนา เรื่อง Evolution of Automotive โดย ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบาย 4.0 เพราะสภาวะแวดล้อมของประเทศไทยมีปัจจัยอย่าง ราคาน้ำมันที่ไม่แน่นอนหรือการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างล่าสุดเกิดวิกฤติ PM 2.5 ซึ่งกระทรวงได้มีมาตรการการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้พลังงานทดแทน โดยการผลักดันโดยนโยบายการพัฒนารถยนต์ในอนาคตว่าจะนำพลังงานทดแทนมาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่เห็นได้ชัด คือ พลังงานไฟฟ้าหรือแผนการพัฒนารถยนต์ระบบไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ซึ่งตั้งไว้ที่ 25% ของจำนวนรถในอีก 10 ปีข้างหน้า และทางภาครัฐได้มีการผลักดันความต้องการของตลาดในประเทศ (demand) และสิทธิประโยชน์ทั้งหลาย (supply) และปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ในการผลิตรถยนต์ (element) อย่างชิ้นส่วนรถยนต์สนามทดสอบ ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่และอื่นๆ
มุมมองและทิศทางที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับเรื่องการใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้า อาทิ
1. จะทำอย่างไรให้รถยนต์ระบบไฟฟ้าเป็นทางเลือกของผู้บริโภคมากขึ้นเป็น "Eco Electric Vehicle" ที่ประหยัด ปลอดภัยและคุ้มค่า
2. การปรับปรุงข้อมูลข่าวสารและรณรงค์การใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้าโดยทำอีโค่สติ๊กเกอร์ (Eco Sticker) เพื่อรองรับการใช้น้ำมันระบบดีเซล
3. จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยยังคงสถานะเป็นศูนย์การประกอบรถยนต์ Next Generation เมื่อมาถึง EV เพราะเดิมประเทศไทยถือว่าเป็น Detroit of Asia ในการประกอบรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมการลงทุนในภาครัฐ โดยจะมีการเปิดให้ภาครัฐทุกหน่วยซื้อรถยนต์ระบบไฟฟ้าไปใช้เพื่อทำให้รถยนต์ EV ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น รวมไปถึงการปรึกษากับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการบริหารจัดการแบตเตอรี่อย่างไรเพื่อไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ดร. เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สายงานกิจการพิเศษ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนของรถยนต์ไฟฟ้าของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ไว้ว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มีหน้าที่สร้างขีดความสามารถในการวิเคราะห์และทดสอบศักยภาพของรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นอย่างยิ่ง คือ การวิจัยเพื่อพัฒนาและอัพเดทเทรนด์หรือกระแสในตลาด พร้อมทั้งพัฒนาคนให้มีองค์ความรู้พร้อมรับเทคโนโลยีดังกล่าว หลักๆ คือ จะทดสอบอย่างไร และรูปแบบไหนถึงจะเกิดประสิทธิผลมากที่สุดเพื่อให้ได้มาตรฐาน
สำหรับเทรนด์และแนวโน้มในประเทศไทยนั้น แน่นอนว่าเมื่อ EV (Electric Vehicle) เข้าตลาด นวัตกรรมรถยนต์ที่กำลังจะตามมาคือ AV (Automation Vehicle) โดยเทรนด์รถในปี พ.ศ. 2562 มีหลักๆ ทั้งหมด 6 เทรนด์ด้วยกันคือ
1. การติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อเพิ่มความปลอดภัย (Safety Sensor)
2. คอมเพล็กซ์ทรานสปอร์ตเทชั่น (Complex Transportations) หรือ Mobility is going 'as-a-service'
3. รถยนต์ระบบไฟฟ้า (Electrification)
4. การเชื่อมต่อ (Connectivity) หรือที่เรียกว่า V2X (Vehicle-to-everything)
5. การเก็บข้อมูล (information storage)
6. การแชร์รถยนต์ หรือ Car Sharing
คุณอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึง สถานการณ์ทั่วทั้งโลก และประเทศไทยที่มีต่อการพัฒนารถยนต์ระบบไฟฟ้าว่า "วิวัฒนาการของยานยนต์นั้นกำลังถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือที่ถูกเรียกกันว่าการดิสรัปชั่น (Disruption) ในภาครัฐนั้นก็มีนโยบายที่ออกมารองรับกับ ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วนของสถาบันยานยนต์ สถาบันยานยนต์ ก็มีหน้าที่สนับสนุนเช่นเดียวกันดังที่ว่าประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเป็นฐานผลิตยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในปัจจุบันนี้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 60 ปี ด้วยกันและเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปและท้าทาย วิธีแก้ปัญหาของคือ
1. พัฒนาและคิดค้นระบบรถยนต์โดยใช้ระบบนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทันสมัย โดยจะพัฒนา next generation automotive center ขึ้นมาเพื่อค้นหาว่ายานยนต์จะสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนได้บ้างและจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
2. พัฒนาคนให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตได้
3. ทดสอบมาตรฐานยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมต่อยอดการวิจัยและพัฒนาในอนาคต ไม่มุ่งเน้นเฉพาะการผลิตอย่างเดียว แต่จะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และเทคโนโลยีควบคู่กันไป
อุตสาหกรรมยานยนต์ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทย จะเป็นประเทศที่ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจะเป็นสังคมที่เข้าสู่ประชากรสูงอายุมากถึง 30% ของประชากรไทยทั้งหมด นอกจากนี้ ระบบ Robots and Automations จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในประเทศไทย มีการพัฒนาเรื่อง 5G ให้รองรับอย่างทั่วถึง และทางภาครัฐจะพัฒนาเป็น E-Government เศรษฐกิจจะพลิกโฉมมาเป็น E-commerce มากขึ้น สังคมจะพัฒนาเป็นสังคมเมืองมากขึ้นเพื่อให้ไปถึง สมาร์ทซิตี้ (Smart City) โดยจะต้องมี สมาร์ทโมบิลิตี้ (Smart Mobility) ที่สามารถเข้าถึง ได้ง่าย (Accessible) เชื่อมต่อกัน (Connect) สะดวกสบายและปลอดภัย (Comfort & safety) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Clean & Efficiency) และคุ้มค่าในเรื่องของราคา (Affordable price) ซึ่งสิ่งที่จะมารองรับ Smart Mobility ดังกล่าวก็คือเทคโนโลยี ได้แก่ รถยนต์ระบบไฟฟ้า (E – Electrified) อย่างรถยนต์ EVs ที่ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีอัตราการผลิตถึง 53% (มากกว่ารถยนต์แบบสันดาปภายใน) ระบบอัตโนมัติ (A – Automated) ที่จะมีถึง 6 ระดับด้วยกัน ไล่จากระดับ 0 คือไม่อัตโนมัติจนถึงระดับ 5 คือควบคุมอัตโนมัติ อย่างสมบูรณ์แบบและในปี ค.ศ. 2030 คาดว่าจะสามารถพัฒนาระบบ autonomous ได้ในระดับที่ 3 ซึ่งเป็นระดับที่สามารถขับขี่ได้อัตโนมัติ ในระยะทางและระยะเวลาที่จำกัด อย่างเช่น การปล่อยมือบนทางด่วน และการเชื่อมโยง (C – Connected) ที่จะสามารถเชื่อมต่อ V2D หรือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ (Device) ต่างๆ V2P หรือการเชื่อมต่อกับคนที่เดินถนน V2V หรือการเชื่อมต่อระหว่างรถต่อรถ และ V2I หรือการเชื่อมต่อกับโครงสร้างต่างๆ โดยในปี ค.ศ. 2030 นั้น คาดว่าจะมีการพัฒนาไปถึง V2X หรือการเชื่อมโยงที่สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกสิ่ง สุดท้าย คือ เรื่อง แชร์ริ่ง (S – Shared) ที่จำแนกออกเป็น การแชร์กันขับ (Drive sharing) การอาศัยไปกับรถคนอื่น (Ride sharing) และระบบขนส่งสาธาระณะ (Mass transit) ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีการพัฒนาไปในขั้นไหน
ปัจจุบัน เราอยู่ในกระบวนการของการสู้กับความท้าทายในปี ค.ศ. 2030 ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือ คน (Human Resource Development) ว่าเมื่อโลกมันเปลี่ยนไปเราควรจะปรับตัวอย่างไรให้เหมาะสม โดยหลักๆ จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ตัวรถยนต์ระบบไฟฟ้าและการผลิต ที่ในอนาคตสังคมไทยจะขาดแคลนแรงงานมากขึ้น เรื่องของ Autonomous และ Robots จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มผลผลิตสู่ท้องตลาด ดังนั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องต่อยอดการศึกษาเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ใหม่แก่ประชาชนโดยทั่วเกี่ยวกับเรื่องตัวรถยนต์ระบบไฟฟ้ารวมถึงกระบวนการการผลิตรถยนต์ระบบไฟฟ้าอีกด้วย สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ทักษะด้าน Soft Skills ที่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นเราได้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับพื้นฐานหลัก การดำเนินงาน เทคโนโลยีและแบตเตอรี่ของรถยนต์ระบบไฟฟ้า เป็นต้น ที่ศูนย์ EV Technology & Innovation Center
ช่วงที่ 2 - ภาคเอกชน
ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวในมุมมองของผู้ขับขี่และผู้ที่ใช้งานรถไฟฟ้า EV ว่า
- ด้านความพร้อมของผู้ขับขี่เกี่ยวกับรถไฟฟ้านั้น ปัจจุบันรถไฟฟ้ามีหลากหลายขนาดของความจุไฟฟ้า ดังนั้นในฐานะผู้ขับขี่ต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้งานเป็นสำคัญ อาทิ รถที่มีแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ความจุไฟฟ้าน้อยเหมาะสมสำหรับใช้ขับขี่ระยะใกล้ อาทิ ภายในหมู่บ้าน หรือขับระหว่างบ้านเพื่อมาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดใกล้ๆ บ้าน หรือรถที่แบตเตอรี่ความจุใหญ่หน่อยก็สามารถขับในระยะทางที่ไกลขึ้น ซึ่งตรงนี้ถ้าผู้ขับขี่ทั่วไปต้องการใช้รถไฟฟ้าเป็นยานพาหนะก็ควรเลือกมองรถที่ขนาดแบตเตอรี่ใหญ่
- ด้านผู้ประกอบการรถยนต์ควรพัฒนารถยนต์ที่มีขนาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่เพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งประสิทธิภาพในการวิ่งของรถยนต์ที่ต้องสามารถวิ่งได้เป็นระยะทางอย่างน้อย 200-300 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ หนึ่งครั้ง
- ด้านการลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จ ถึงแม้ในขณะนี้สถานีชาร์จยังน้อยอยู่แต่ถ้าในอนาคตกำลังมีการพัฒนาและติดตั้งหัวชาร์จเพิ่มมากขึ้น ผู้ขับขี่ที่ใช้งานคงวางใจได้ในระดับหนึ่ง
- ผู้ผลิตและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ต้องกลับมามองดูในเรื่องจากอะไหล่ชิ้นส่วนเพื่อประกอบรถยนต์และสำหรับซ่อมบำรุงในอนาคตด้วย เพราะถ้านวัตกรรมยานยนต์เดินเร็วจนผู้ผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนไม่สามารถพัฒนาได้ทัน อันนี้อาจส่งผล เป็นปัญหาในอนาคต
คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA บอกเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการพัฒนาสถานีชาร์จไว้ดังนี้
- EA เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่พัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า EA Anywhere โดยมอบให้บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด เป็นผู้พัฒนาและก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เชื้อเพลิงสำหรับพาหนะ ในอนาคตที่ประหยัดพลังงาน ไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันวางเป้าหมายติดตั้งสถานีชาร์จให้ครบ 1,000 สถานีครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ (โดย 1 สถานี มีหลายหัวชาร์จ) โดยปัจจุบันได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 200 สถานี ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญบางจังหวัด
- ในด้านของสถานีการชาร์จไฟฟ้านั้น ทาง EA Anywhere ได้แบ่งหัวชาร์จไฟฟ้าเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมีกำลังอยู่ที่ 44KW หรือ Normal Charger โดยเฉลี่ยการชาร์จรถยนต์ขนาด 30kWh จะอยู่ที่ 24 ชั่วโมง และแบบ 150KW หรือ Super/Combo Charger โดยเฉลี่ยการชาร์จรถยนต์ขนาด 30kWh จะใช้เวลาชาร์จเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น โดยสามารถวิ่งได้ถึง 200-300 ตามสมรรถนะของรถยนต์
- นอกจากการเร่งในการก่อสร้างสถานีชาร์จแล้ว บริษัทฯ ยังพัฒนาในส่วนของ Application ที่เรียกว่า EA Anywhere App โดยผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับการแจ้งเตือนถ้าประจุไฟฟ้าภายในรถยนต์มีกำลังสำรองเหลือน้อย ซึ่งผู้ขับขี่จะสามารถค้นหาสถานีชาร์จที่อยู่ใกล้ที่สุด สถานีนั้นมีว่างอยู่กี่หัวจ่าย และเสามารถจองหัวจ่ายผ่าน Application ซึ่งยังพัฒนาต่อไปถึงด้านการจ่ายค่าไฟโดยสามารถจ่ายผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ หรือ Internet Banking ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน ผู้ที่ขับขี่รถไฟฟ้านำรถไปชาร์จที่สถานีจะเสียค่าชาร์จเฉลี่ยที่ประมาณ 50 บาท่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการชาร์จในรูปแบบปกติ แต่ถ้าในอนาคตมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ก็จะทำการศึกษาและกำหนดค่าชาร์จไฟอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจจะคิดตามหน่วยไฟที่แท้จริง เป็นต้น
มร. ผู่ จินฮวน หัวหน้าวิศวกร แผนก Project Operation Department PM Section EV Platform Chief Engineering, Shanghai E-Propulsion Auto Technology Co., Ltd เล่าถึงภาพรวมและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ SAIC ไว้ว่า
- SAIC นับเป็นบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยานยนต์ระดับโลก โดยปัจจุบัน SAIC จำหน่ายรถยนต์อยู่อันดับ 7 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของประเทศจีน โดยในปี ค.ศ. 2009 SAIC ลงทุนถึงกว่า 20,000 ล้านหยวนเพื่อจัดตั้งบริษัท SEAT เพื่อพัฒนานวัตกรรมรถยนต์ EV โดยโฟกัสอยู่ที่ 3 ประเด็นหลักได้แก่ 1. แบตเตอรี่ 2. มอเตอร์ และ 3. แผงคอนโทรล/ระบบควบคุมไฟฟ้า
- โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี SAIC มีการเปิดตัวรถยนต์ EV ถึง 11 รุ่น และในปีนี้ SAIC เตรียมเปิดตัวรถ EV โฉมใหม่อย่าง ZS EV พร้อมๆ กันใน 20 ประเทศทั่วโลก
- SAIC มียอดขายรถ EV สะสมมากกว่า 200,000 คัน เฉพาะในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2018) SAIC มียอดการจำหน่ายรถ EV กว่า 100,000 คัน ซึ่งในประเทศจีนมีรถยนต์ EV (HEV | PHEV | EV) มากถึง 1 ล้านคัน และกว่า 760,000 คัน เป็นรถพลังงานไฟฟ้า (EV) เท่านั้น
- ในช่วง 10 ปี SAIC ในการพัฒนาในหลายมิติโดยเฉพาะ Hardware โดย Part หลักๆ เช่น ระบบส่งกำลัง ทาง SAIC จะเป็นผู้พัฒนาเอง นอกจากนี้ ยังร่วมกับ partner ระดับโลกทำการคิดค้นในส่วนต่างๆ อาทิ Bosch และในส่วนของ Software ของแบตเตอรี่ และมอเตอร์ ทาง SAIC เป็นผู้ดำเนินการและพัฒนาเองทั้งหมด
- จุดเด่นของรถ EV ของ SAIC มี 3 ประเด็น คือ
1. ประสิทธิภาพสูง โดย รถ EV ของ SAIC จะใช้มอเตอร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นวงกลม ซึ่งรูปแบบสี่เหลี่ยมจะดีกว่ารูปแบบเดิมถึง 10-15% มีแรงดันสูงกว่า 400 โวลต์ (DC 400 Volt) นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี S-Pedal (Smart Pedal) ที่ออกแบบมาให้สามารถชาร์จไฟได้ขณะเร่งเครื่องหรือลดความเร็วของเครื่องยนต์ ทำให้ไม่สูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ เกิดเป็นพลังงานหมุนเวียนขณะขับขี่
2. ความปลอดภัย รถ EV ของ SAIC ผ่านมาตรฐาน ISO 026262 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยระดับโลกที่ใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้ง ASIL หรือ Automotive Safety Integrity ในระดับ Level D ซึ่งเป็นระดับความปลอดภัยสูงสุด นอกจากนี้ ยังได้รับประกาศนียบัตร UL 2580 ซึ่งเป็นเครื่องการันตีถึงมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของแบตเตอรี่ โดยผ่านการทดสอบในด้านต่างๆ ถึง 8 ด้าน ทั้งการลัดวงจรของระบบไฟฟ้า ภาวะฝุ่น การขีดข่วน แรงอัด การทนต่อการกัดกร่อนด้วยจากละอองน้ำเกลือ แช่น้ำ ไฟ การกระแทก เป็นต้น นอกจากนี้ รถ EV ของ SAIC ยังมีการปกป้องแบตเตอรี่แบบ 360 องศา (360 Degree Battery Shield) ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ได้เป็นอย่างดี
3. ความคุ้มค่า รถ EV ของ MG มีระบบส่งกำลังไฟที่มีประสิทธิภาพสูง และแบตเตอรี่ให้กำลังไฟที่มากกว่ารถยนต์ กลุ่มเดียวกัน ซึ่งนอกจากนี้ SAIC ยังได้ลงทุนด้านแบตเตอรี่ อะไหล่และชิ้นส่วน โดยการร่วมทุนกับผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีนและทำสัญญาการผลิตและจัดส่งกับซัพพลายเออร์ จึงมี Supply chain ที่ครบถ้วน ดังนั้น ผู้ขับขี่จึงมั่นใจได้ว่า รถ EV ของ SAIC นั้นมีความปลอดภัยคุ้มค่าในทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ มร. จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความมั่นใจที่บริษัทฯ มีต่อรถยนต์ระบบไฟฟ้า ว่า
- พัฒนาการและเทคโนโลยีของรถยนต์ระบบไฟฟ้าทำมานานกว่า 100 ปี และก็มีการพัฒนาและอัพเดทออกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เครื่องยนต์รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน แต่เมื่อเราได้ความสะดวกสบายจากรถยนต์นั้นก็นำมาซึ่งมลภาวะ ดังนั้น บริษัทฯ จึงนำแบตเตอรี่มาให้พลังงานกับรถยนต์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวพร้อมทั้งนำเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ มาพัฒนาอีกมากมาย ซึ่งจากมุมมองส่วนตัวคิดว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นสามารถเติบโตได้เร็วกว่าที่หลายคนคาดการณ์
- SAIC เริ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพลังงานใหม่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 มาจนถึงทุกวันนี้ จึงมั่นใจได้ว่ารถยนต์ทุกรุ่นที่ออกขายสู่ตลาดในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะรุ่น EV นั้นมีเทคโนโลยีที่พร้อม ครบถ้วน และทันสมัย
- โอกาสสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังมาถึงแล้ว เหมือนในกรณีของสมารท์โฟนที่มีเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัป จนสามารถพลิกโฉมของวงการของโทรศัพท์จากหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น รถยนต์ EV ก็เช่นเดียวกัน
- รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ MG จะเข้าไทยในเดือนมิถุนายน 2562 และเพื่อลดความกังวลต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทาง MG จะร่วมมือกับ EA Anywhere และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการสร้างสถานีชาร์จ (Charging Stations) ให้ครอบคลุมและทั่วถึง โดยหวังว่าทุกคนจะอดใจรอผลงานดีๆ ที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีและความทันสมัยจาก MG