กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวปรับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยาใหม่ เป็นประเภทกิจการผลิตยาและ สารออกฤทธิ์สำคัญในยา ครอบคลุมกิจการผลิตยาสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น จากเดิมให้ส่งเสริมเฉพาะกิจการผลิตสารออกฤทธิ์สำคัญในยาอย่างเดียว พร้อมอัดสิทธิประโยชน์เต็มพิกัด ทั้งรายเก่า-ใหม่ หวังกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโรงงาน พัฒนาเทคโนโลยี มาตรฐานการผลิตยา พร้อมจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น
นายสาธิต ศิริรังคมานนท์ กล่าวเปิดเผย ระหว่างการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยาใหม่ทั้งระบบเป็นประเภทกิจการผลิตยาและสารออกฤทธิ์สำคัญในยา (Active Ingredient ) ได้แก่ กิจการยารักษาโรคคนและสัตว์ วัคซีน เป็นต้น จากเดิมที่บีโอไอให้ส่งเสริมการลงทุนเฉพาะกิจการผลิตสารออกฤทธิ์สำคัญในยาเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่รวมถึงการผลิตยาสำเร็จรูป
ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน กลุ่มอุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่ต้องมีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้มากขึ้น ทั้งด้านปริมาณการผลิตเทคโนโลยี รวมทั้งคุณภาพของยาที่ผลิตต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและเป็นที่ยอมรับระดับสากล โดยภายในปี 2551 สถานที่ผลิตยาปัจจุบันต้องมีการปรับปรุง และควบคุมมาตรฐานให้ได้มาตรฐาน GMP ตามแนวทางของ PIC/S หรือ Pharmaceutical Inspection Cooperation Scheme
เพื่อให้ได้มาตรฐานดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตยา รวมทั้งความสามารถในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาสู่ตลาดโลก ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถลดมูลค่าการนำเข้ายาสำเร็จรูปและเภสัชเคมีภัณฑ์ เพื่อก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตยาในประเทศมีการพัฒนาและปรับปรุงโรงงานเดิมหรือลงทุนสำหรับโรงงานใหม่ ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตยาในประเทศเพิ่มมากขึ้น
สำหรับหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์แบ่งเป็น กรณีลงทุนใหม่และปรับปรุงโรงงานเดิม โดยทั้ง 2 กรณี จะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรไม่ว่าตั้งอยู่ในเขตใด ส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะพิจารณาได้ตามเขตที่ตั้ง โดยเขต 1 จะได้รับการยกเว้นภาษี 5 ปี เขต 2 หากตั้งนอกนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม ได้รับการยกเว้นภาษี 6 ปี แต่หากตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้ส่งเสริมการลงทุน ได้รับการยกเว้นภาษี 7 ปี สำหรับเขต 3 ได้ยกเว้นภาษีเป็นจำนวน 8 ปี
นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการให้ได้รับมาตรฐาน GMP ตามแนวทาง PIC/S ภายใน 2 ปี นับแต่วันเปิดดำเนินการ อีกทั้งหากมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ก็สามารถรับสิทธิประโยชน์เพิ่มตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวอีกด้วย--จบ--