กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--เครือเบทาโกร
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครือเบทาโกร จับมือคณะเกษตรฯ มข. เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแมลงอย่างจริงจัง เปิดโรงเรือนต้นแบบศึกษาวิจัยแมลงกินขยะอินทรีย์ (Black Soldier Fly) เพื่อขจัดขยะจากโรงงานแปรรูปอาหาร ต่อยอดเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงผลิตอาหารสัตว์ และเพิ่มมูลค่าสร้างประโยชน์ด้านอื่นในอนาคต
เครือเบทาโกร ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำพิธีเปิด "โรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรม" แห่งแรกของประเทศไทย เพาะเลี้ยง Black Soldier Fly เพื่อขจัดขยะอินทรีย์ สร้างนวัตกรรมอุตสาหกรรมแมลง และพัฒนาเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ณ หมวดแมลงอุตสาหกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเบทาโกร ทำพิธีเปิด พร้อมด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.วุฒิไกร บุญคุ้ม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (หัวหน้าโครงการ) และนายสัตวแพทย์รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร ทีมนักวิจัยน รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเบทาโกร กล่าวว่า เครือเบทาโกรมีความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มดำเนินโครงการนี้ร่วมกับม.ขอนแก่น ซึ่งมีองค์ความรู้สูงทางด้านแมลง จะเห็นได้ว่ากระบวนการผลิตในฟาร์ม โรงงานต่างๆ ของ เบทาโกร มีขยะอินทรีย์ซึ่งใช้วิธีกำจัดด้วยการฝังกลบ สามารถนำมาให้ตัวหนอนแมลงกำจัดได้ นอกจากช่วยควบคุมสิ่งแวดล้อมแล้ว จะต่อยอดผลิตเป็นแหล่งโปรตีนสูง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ และพัฒนาประโยชน์ด้านอื่นในอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกของไทยในการนำ Black Soldier Fly มาเลี้ยงเป็นจำนวนล้านๆ ตัว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ถือเป็น Circular Economy หรือการดำเนินธุรกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่มีค่าในกระบวนการผลิต ซึ่งคาดว่าจะขยายผลไปสร้างโรงเรือน ทั่วประเทศ
ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า Black Soldier Fly เป็นแมลงดีที่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่นำโรค ไม่เป็นศัตรูพืช มีวงจรชีวิตเพียง 1 เดือน เมื่อออกไข่เกิดเป็นตัวหนอนจะกินขยะอินทรีย์ มูลสุกร ช่วยลดปริมาณขยะ (สัดส่วน: การขจัดขยะอินทรีย์ 1 กิโลกรัม ใช้หนอนอายุ 5 วัน จำนวน 1,000 ตัว ในเวลา 18-20 วัน) ช่วงเป็นตัวดักแด้ก่อนเจริญเติบโตเป็นแมลงเต็มวัยเป็นช่วงที่มีมูลค่าทางโปรตีนสูง นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้ ส่วนมูลนำไปทำเป็นปุ๋ย นอกจากนี้ เรากำลังศึกษาต่อถึงส่วนประกอบของดักแด้ซึ่งมีสารประกอบบางอย่างที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าต่อได้
โรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรม (Industrial Insects Pilot Production Plant) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนเชิงพาณิชย์ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีพ.ศ.2560 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2562 มีกำลังการผลิตตัวหนอนแมลงกินขยะอินทรีย์ (Black Soldier Fly) จำนวน 3,000,000 ตัวต่อเดือน เมื่อใช้โรงเรือนเต็มกำลังการผลิตจะผลิตตัวหนอนได้ถึง 6,000,000 ตัวต่อเดือน