กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมา จัดพิธีทำบุญตักบาตรและฟังธรรมะ เนื่องในวันวิสาขบูชา เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตบุคลากร และช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้ป่วยจิตเวชขณะอยู่ในรพ. ด้านนักจิตวิทยาหนุนประชาชนทุกวัยโดยเฉพาะวัยกำลังแรงงานที่มี 38 ล้านกว่าคน เข้าวัด ร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาในวันพระ เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม ทำสมาธิ ชี้จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางใจหรืออาร์คิว เป็นต้นทุนชีวิตสามารถใช้รับมือกับปัญหา หรือความไม่แน่นอนที่เผชิญในชีวิตได้อย่างแข็งแกร่ง และฟื้นตัวได้เร็ว ไม่เกิดโรคทางใจและทางกายตามมา อาทิ โรคซึมเศร้า โรคความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะอาหาร
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา นำบุคลากรเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยจิตเวชและญาติ ร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรและฟังธรรมะ ซึ่งจัดขึ้นในรพ.จิตเวชฯ เนื่องในวันวิสาขบูชา โดยธรรมะในวันนี้เน้น 3 เรื่องคือ ความกตัญญู อริยสัจ4 และสติ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวช ญาติ และบุคลากรสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะมีประโยชน์ คือเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิต โดยเฉพาะบุคลากร หากมีจิตใจดี จะเพิ่มคุณภาพบริการแก่ผู้ป่วยและญาติดีไปด้วย ส่วนผู้ป่วยจิตเวชที่อาการสงบแล้ว หลักธรรมศาสนาจะช่วยฟื้นฟูจิตใจ ส่งผลให้การฟื้นคืนสู่สภาวะปกติเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น โดยรพ.จิตเวชฯมีนโยบายจัดกิจกรรมนี้เป็นประจำทุกเดือน
ทางด้านนางจินตนา หะรินเดช นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า การเข้าร่วมปฏิบัติกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวันพระใหญ่หรือวันพระเล็ก เช่นทำบุญตักบาตร ไหว้พระ ฟังธรรม ทำสมาธิ เป็นต้น ล้วนถือเป็นมงคลชีวิต สร้างจิตใจให้เป็นกุศล ซึ่งจะก่อให้เกิดความสุขและมีผลดีต่อสุขภาพจิตอย่างมาก ทั้งเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนคิดดีและกระทำดีทั้งกาย วาจา ใจ จะนำไปสู่การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางใจหรือที่วงการสุขภาพจิตเรียกว่า พลังสุขภาพจิต หรืออาร์คิว (Resilience Quotient : RQ) ซึ่งเป็นความเข้มแข็งทางอารมณ์และจิตใจของแต่ละบุคคล เป็นต้นทุนชีวิตที่จำเป็นต้องมีไว้ เปรียบเสมือนเป็นวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2562 มีจำนวน 38 ล้านกว่าคน จำเป็นต้องมีอาร์คิวในระดับที่สูงพอ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาระความรับผิดชอบสูง ต้องใช้ชีวิตภายใต้ความกดดันจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ทั้งจากการทำงาน เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ส่วนใหญ่ทำงานสัปดาห์ละ 40-49 ชั่วโมง หากสามารถจัดเวลาเข้าวัดได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพใจ
"อาร์คิว จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ที่เผชิญกับปัญหาอุปสรรค หรือวิกฤตหรือเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไม่คาดฝัน ให้สามารถปรับตัวและฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุขได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา ที่พบได้บ่อยเช่น ความเครียด โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งปัญหานี้สามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางกายได้ด้วย เช่น แผลกระเพาะอาหาร
ไมเกรน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น เนื่องจากใจและกายมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่เรียกกันว่า ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว หากจิตใจดีมีความสุข สุขภาพกายก็จะดีตามไปด้วย" นางจินตนากล่าว
นางจินตนา กล่าวต่อไปว่า หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อประชาชนทุกคน ทุกสถานะ นำมายึดถือปฏิบัติแล้ว จะส่งผลดีต่อสภาพจิตใจโดยตรง การถือศีลทำให้จิตใจเราสะอาด จะเป็นการสร้างพื้นฐานของจิตใจในการอยู่ร่วมกันในสังคม มีความรักต่อกัน มองโลกในแง่ดี มีความอบอุ่น มีความมั่นคง ส่วนสมาธิเมื่อปฏิบัติแล้วจะทำให้เกิดความสงบ สร้างสมรรถภาพทางใจ สามารถปรับตัวปรับใจในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมได้ สำหรับปัญญานั้นจะทำให้เกิดความสว่าง เป็นการสร้างคุณภาพจิตใจ เป็นคนเก่ง มีความคิดก้าวหน้า มีคุณธรรม ให้ผลต่อการพัฒนาตนเองเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ผู้ที่มีพลังสุขภาพจิตดีจะมีคุณลักษณะสำคัญ 8 ลักษณะ คือ 1. มีจิตใจหนักแน่น ไม่ตีโพยตีพายเมื่อมีปัญหา สามารถสงบจิตใจ จัดการกับอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ระงับความว้าวุ่นได้ 2. มีใจสู้ ไม่ยอมแพ้โชคชะตา 3. มองตัวเองว่ามีความสามารถหลายด้าน มั่นใจตัวเอง จัดการปัญหาอย่างรอบคอบ 4. มองชีวิตว่ามีขึ้นมีลง ยืดหยุ่น ปรับตัวเองตามสถานการณ์ได้ เห็นความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา 5.มักเห็นปัญหาเป็นโอกาส 6. มีสิ่งยึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่งทางใจเช่นศาสนา เป็นต้น 7. มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนใกล้ชิด เพื่อนฝูง มีความผูกพันกับครอบครัว และ8.มีทักษะความคิดที่ดี มองมุมบวก มองในแง่ดี หรือมองหาส่วนดีที่เหลืออยู่ ไม่ยึดติดความคิดเดิมๆ ทิ้งความหลังและก้าวไปข้างหน้าได้ ผู้ที่มีพลังสุขภาพจิตดี สภาพจิตใจจะมีความแข็งแกร่ง มีความยืดหยุ่นสูง แม้มีปัจจัยภายนอกมากระทบ ก็ไม่ทำให้กระเทือนถึงขั้นแตกร้าวได้