กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--เอ็นไอ.คอม
สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จัดการสัมมนาเผยแพร่พิมพ์เขียวแพลตฟอร์มการบูรณาการข้อมูลระดับประเทศ (National Data Exchange Platform Blueprint) วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมี นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนา
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า จากนโยบายการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นดิจิทัล จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ
ดำเนินการบูรณาการใน 4 เรื่อง คือ การให้บริการประชาชน, การบริหารจัดการน้ำ, การบูรณาการข้อมูลกายภาพ (One Maps) และความมั่นคง โดยจัดทำตามแผนแม่บทอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 8 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ออกมาเพื่อปกป้องระบบที่สำคัญของประเทศที่ไม่สามารถล้มได้, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกฎหมายใหม่ที่ยังไม่ประกาศใช้ ซึ่งมีผลกระทบกับทุกคนมากกว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ที่หลายคนกังวล เนื่องจากผู้เก็บข้อมูลจะต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ให้ข้อมูล เช่น การทำแบบสำรวจจะต้องมีจุดประสงค์ การเปิดเผยข้อมูล มิเช่นนั้นหากนำข้อมูลไปเผยแพร่จะมีความผิด ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหน่วยงานเพื่อให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ และให้ประเทศไทยเกิดเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ด้าน นางปฏิมา อาภาศิลป์ ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศแห่งชาติ สดช. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปทุกภาคส่วน เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนสามารถต่อยอดพัฒนาในการแข่งขัน ยกระดับการให้บริการประชาชน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ สร้างระบบ หรือแพลตฟอร์มกลางสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลให้ได้ประสิทธิภาพ ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ยกระดับการทำงานภาครัฐให้เกิดความรวดเร็ว แต่การเก็บข้อมูลของไทยยังไม่ครอบคลุม ไม่ครบถ้วนทำให้ยากต่อการนำมาใช้วางนโนบาย สดช. จึงได้ดำเนินการโครงการจัดทำกรอบ ออกแบบ และพัฒนาการจัดทำระบบนิเวศข้อมูลของชาติ (National Data Ecosystem) ขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลของโลก มีการวางแนวทางการขับเคลื่อน 2 ทาง คือ การขับเคลื่อนการบูรณาการข้อมูลระดับประเทศในเชิงกว้าง และการขับเคลื่อนการบูรณาการข้อมูลในเชิงลึก ที่ผ่านมา สดช.ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพและด้านการเงิน บูรณาการข้อมูลในระยะเวลา 1 ปี จนได้เป็นพิมพ์เขียวแพลตฟอร์มการบูรณาการข้อมูลระดับประเทศ
นอกจากนี้ภายในงานยังได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบพิมพ์เขียวแพลตฟอร์มการบูรณาการข้อมูลระดับประเทศ ระบบต้นแบบโดยที่ปรึกษาโครงการฯ รวมถึงการเตรียมความพร้อมข้อมูลและแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันระหว่างประเทศ