กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
เดือนพฤษภาคมย่างเข้าสู่ฤดูผลไม้ภาคตะวันออกและจะชุกช่วงกลางเดือนเป็นต้นไป ผลผลิตหลักที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้เกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกองและสละ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่า ปีนี้ผลไม้ภาคตะวันออก 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะและลองกอง ผลผลิตรวม 8.8 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 33%
ก รมส่งเสริมสหกรณ์ได้เพิ่มศักยภาพสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกร โดยอุดหนุนงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล ให้สหกรณ์นำไปจัดสร้างอุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือสำหรับรวบรวมและแปรรูปผลไม้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมและเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้เพื่อกระจายสู่ตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ละปีรวบรวมผลผลิตได้ประมาณ 5,800 ตัน เฉพาะทุเรียนประมาณ 1,000 ตัน ซึ่งปีที่ผ่านมา สหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการไทยนิยมยั่งยืนกว่า 29 ล้านบาท และสหกรณ์สมทบเพิ่มเติมอีก 12 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารห้องเย็น พร้อมอุปกรณ์แปรรูปผลไม้ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่กลางปี 2561 จนเสร็จสมบูรณ์ทันใช้ในฤดูกาลผลผลิตปีนี้
นางศศิธร วิเศษ สหกรณ์จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรจังหวัดจันทบุรีได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตร จากเคยปลูกยางพารา กล้วยไข่และเงาะ หันมาปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเห็นว่าได้ราคาดี ซึ่งราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้นจากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท ปัจจุบันราคาพุ่งสูงไปจนถึงกิโลกรัมละ 150 บาท สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด จึงเตรียมแผนรองรับปัญหาผลผลิตกระจุกตัวและล้นตลาดในอนาคต โดยได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อนำมาสร้างอาคารห้องเย็นและจัดซื้ออุปกรณ์แปรรูปผลผลิต และพร้อมจะยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางการแปรรูปผลไม้เพื่อการส่งออกของขบวนการสหกรณ์ในจังหวัดจันทบุรี ในอนาคต ซึ่งอาคารห้องเย็นนี้เริ่มใช้ประโยชน์ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยสหกรณ์ได้รับซื้อผลทุเรียนสด แต่ตกไซส์ มีตำหนิ ลูกไม่สวย ซึ่งไม่สามารถจำหน่ายเป็นผลสดได้ นำมาแปรรูปโดยแกะเนื้อ ผลิตเป็นทุเรียนแช่แข็ง และเพิ่มมูลค่าโดยกระบวนการ Freeze dry ก่อนส่งจำหน่ายตลาดในประเทศจีน ซึ่งก่อนที่สหกรณ์จะหันมาทำธุรกิจส่งออกทุเรียนแบบแกะเนื้อแช่แข็ง ได้มีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศจีน พบว่า ปัจจุบันครอบครัวคนจีนในเมืองใหญ่ มีขนาดเล็กลง ทำให้ความต้องการบริโภคทุเรียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยซื้อทั้งผล เปลี่ยนเป็นการซื้อทุเรียนแบบแกะเนื้อบรรจุกล่องหรือถาดขนาด 1-2 พู สำหรับการบริโภคพอดีกับจำนวนสมาชิกครอบครัว ทำให้สหกรณ์มองเห็นโอกาสในการจะขยายตลาดทุเรียน จึงนำทุเรียนที่สุกแล้วมาแกะเนื้อแล้วแช่แข็งส่งไปขายผู้บริโภคในประเทศจีน ซึ่งทุเรียนเป็นผลไม้ที่ชื่นชอบของชาวจีนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะทุเรียนที่มาจากเมืองไทย
ทั้งนี้ โรงงานห้องเย็นของสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด สามารถผลิตทุเรียนแช่แข็งได้ประมาณ 2,000 ตันต่อปี โดยสหกรณ์จะเดินเครื่องรับซื้อผลผลิตเต็มที่ในช่วงที่ทุเรียนกระจุกตัว ระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน เพื่อป้อนเข้าสู่ห้องเย็น ซึ่งกระบวนการแปรรูปทุเรียนแช่แข็ง เริ่มจากเกษตรกรขนทุเรียนมาขายให้สหกรณ์ สหกรณ์จะคัดแยกเกรด A B C และทุเรียนที่ตกไซส์ ทุเรียนเกรด A และ B จะจำหน่ายเป็นผลสด กว่า 90 % ส่งไปจำหน่ายที่ประเทศจีน ที่เหลือจะขายตลาดในประเทศ โดยสหกรณ์ได้ร่วมกับห้างแมคโคร และThe Mall ส่งทุเรียนไปจำหน่ายในห้างและกระจายไปตามสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ส่วนทุเรียนตกไซส์จะถูกนำเข้าห้องเย็น คัดผลที่สุกงอมเต็มที่ แกะแยกเนื้อและเปลือกออก ก่อนจะนำเนื้อทุเรียน ที่แกะแล้วส่งเข้าห้องเย็น เพื่อลดอุณหภูมิของผิวเนื้อทุเรียนลงระดับหนึ่งก่อนจะนำเข้าตู้แช่แข็ง ความเย็น -70 องศา จากนั้นจึงนำมาบรรจุใส่ถุงขนาด 5 กิโลกรัม และบรรจุลงกล่อง 20 กิโลกรัม แต่ละวันสหกรณ์ผลิตทุเรียนแช่แข็งได้ประมาณ 65 ตัน ซึ่งอาคารห้องเย็นที่ใช้สำหรับผลิตทุเรียนแช่แข็งนี้ได้สร้างประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากที่ผ่านมา เกษตรกรต้องขนทุเรียนตกไซส์และสุกงอมไปเร่ขายให้กับพ่อค้าคนกลางและโดนกดราคา แต่เมื่อมีโรงงานห้องเย็นตั้งที่สหกรณ์แล้ว เกษตรกรสามารถนำทุเรียนจากสวนทุกลูกทุกขนาดมาขายให้กับสหกรณ์ที่เดียว สหกรณ์จะรับซื้อไว้ทั้งหมดและคัดเกรดก่อนส่งกระจายไปตามช่องทางตลาด ทำให้ประหยัดเวลาและค่าขนส่ง และยังช่วยพยุงราคาผลผลิตไม่ให้ตกต่ำด้วย
"ปกติห้องเย็นในจันทบุรีมีอยู่หลายแห่งแต่เป็นของเอกชน แต่ละปีรวบรวมผลไม้ช่วงที่ออกมากที่สุดประมาณ 4,500 ตัน แต่เมื่อสหกรณ์ได้รับงบประมาณจัดสร้างห้องเย็น ก็ช่วยแชร์ส่วนแบ่งตลาดมาส่วนหนึ่ง เกษตรกรจึงมีทางเลือกนำผลผลิตมาขายให้กับสหกรณ์ และส่งผลให้ราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้น จากเดิมหลายปีที่ผ่านมาทุเรียนตกไซส์ราคา 30 – 40 บาทต่อกิโลกรัม ปีที่แล้วขยับเป็น 45 – 60 บาทต่อกิโลกรัมและปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม แสดงให้เห็นว่าการที่สหกรณ์เข้าไปเป็นตัวกลางรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรนั้น ส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ของจังหวัดจันทบุรี และยังช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณที่จะต้องนำไปใช้แทรกแซงราคาผลไม้ให้กับเกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่สหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตในพื้นที่ โดยการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการรวมกลุ่มสมาชิกให้มีการ วางแผนการผลิต มีการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้เชื่อมโยงกับภาคเอกชนกระจายผลไม้จากแหล่งผลิตไปสู่ตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ สามารถขายผลผลิตได้ราคาและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ" สหกรณ์จังหวัดจันทบุรี กล่าว
ด้านนายศานต์ นาควิบูลย์วงศ์ ผู้จัดการโรงงานห้องเย็น บริษัท ริชฟิล เฟรช ฟรุ๊ต จำกัด บริษัทส่งออกซึ่งเป็นคู่ค้ากับสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทฯได้รับซื้อทุเรียนแช่แข็งจากสหกรณ์ และส่งเป็นวัตถุดิบให้ลูกค้า ที่ประเทศจีนนำไปจัดแต่งบรรจุลงถาดและใส่แบรนด์สินค้าของตัวเอง ก่อนส่งไปวางขายในห้างใหญ่ ๆ 4-5 แห่งของจีน ซึ่งราคาทุเรียนจากประเทศไทยเมื่อนำไปวางขายในห้างของจีนจะมีมูลค่าสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว คนจีนส่วนใหญ่นิยมรับประทานทุเรียนสุกงอม ซึ่งทุเรียนแกะเนื้อที่ส่งไปประเทศจีนจะผ่านการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัย และต้องมีใบรับรองมาตรฐาน GMP ซึ่งการผลิตผลไม้แบบ fresh-cut จะต้องทำในเชิงคุณภาพ แต่จะได้ผลตอบแทนที่มีมูลค่าสูงกว่า นอกจากตลาดผลไม้ในประเทศจีนแล้ว ทางบริษัทยังส่งทุเรียนไปเปิดตลาดที่อินโดนีเซีย และส่งแบบทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกไปจำหน่ายที่เกาหลีด้วย แม้ว่าในปีนี้จะเป็นการทดลองตลาดทุเรียนแช่แข็งเป็นปีแรก แต่ก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้า ในต่างประเทศเป็นอย่างดี และมีแนวโน้มว่าจะสามารถขยายปริมาณการส่งออกได้เพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป