กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--IR PLUS
LPH คาดรายได้ปี 62 เติบโต 25-30% ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/62 มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง จากการเติบโตของรายได้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เข้ามาสนับสนุน จำนวนผู้ป่วยต่างชาติ กัมพูชา-อาหรับ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การขยายบริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่ ล่าสุดบอร์ดอนุมัติลงทุนโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดอยุธยา 2 แห่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายการให้บริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่ ประกาศผลงานไตรมาส 1/2562มีรายได้รวม 387.19 ลบ. กำไรสุทธิ 35.46 ลบ.
ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH เปิดเผยถึงแผนธุรกิจของบริษัทใน ปี 2562 นี้ คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 25-30% โดยในส่วนรายได้ประกันสังคมไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกันตนเต็มจำนวนตามโควต้าที่ได้รับแล้ว ส่วนรายได้ผู้ป่วยทั่วไปจะเพิ่มขึ้นกว่า 30% มาจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่มีการขยายพื้นที่ให้บริการ 5 ศูนย์ฯ พื้นที่ใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและเครื่องมือที่ทันสมัย ในปีนี้จะเริ่มขยายพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยต่างประเทศที่ทำงานในประเทศ (Expat) คาดว่าจะมีรายได้ 5-10 ล้านบาท ผู้ป่วย CLMV 20-25 ล้านบาท และผู้ป่วยชาวอาหรับ 60-80 ล้านบาท รวมในส่วนผู้ป่วยต่างประเทศ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในปีนี้
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 2/2562 แนวโน้มผลประกอบการยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ประกอบกับบริษัทมีแผนมุ่งเน้นขยายบริการด้านการรักษาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพิ่มทีมแพทย์เฉพาะทาง และการเปิดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) ครบ 10 ศูนย์ มีการขยายพื้นที่การให้บริการต่างๆ ในปี 2562 คาดว่าสัดส่วนรายได้ของ LPH แบ่งเป็น ผู้ป่วยประเภทเงินสด 60% และรายได้จากผู้ป่วยประกันสังคม 40% ขณะนี้โควตาเต็มแล้วอยู่ที่ 1.61 แสนราย
"ปีนี้ผู้ป่วยนอกมีการขยายตัวมากขึ้น และโรงพยาบาลมีการรับผู้ป่วยต่างประเทศเพิ่มขึ้น คือกลุ่มคนไข้อาเซียน และกลุ่มอาหรับ (โอมาน ซาอุดิอาระเบีย) โดยได้มีการแต่งตั้ง Agency คนไทยเพื่อรับงานกลุ่มคนไข้ดังกล่าว ซึ่ง 3 เดือนที่ผ่านมา มีคนไข้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง หลังผ่านพ้นเดือนรอมาดอน คนไข้อาหรับจะเข้ามาใช้บริการเพิ่มจำนวนมาก จะสนับสนุนรายได้ให้เติบโตแข็งแกร่ง" ดร.อังกูร กล่าว
สำหรับแผนการลงทุนของ LPH ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาอนุมัติลงทุนโรงพยาบาลเอกชน ในจังหวัดอยุธยา 2 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลดำเนินการเกี่ยวกับตรวจสุขภาพพนักงานโรงงาน ทุนดำเนินงานประมาณ 50 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท และโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง ตั้งอยู่หน้านิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยู่ในระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 เป็นโรงพยาบาลรับประกันสังคม เงินลงทุนรวม 300 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท
"LPH ลงทุนในโรงพยาบาลตรวจสุขภาพ 50% และโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง ลงทุนไม่เกิน 30% ใช้เงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท เจ้าของโครงการมีแผนที่จะนำโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากดำเนินการผ่านไปแล้ว 3 ปี โดยคาดว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีผลกำไรตั้งแต่เปิดดำเนินการปีแรก โดยโรงพยาบาลตรวจสุขภาพสามารถสร้างผลกำไรชดเชยขาดทุนในช่วง 3 ปีแรก หลังจากเปิดดำเนินการ คาดว่าโรงพยาบาลดังกล่าวจะมีผลกำไรตามคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน" ดร.อังกูร กล่าว
นอกเหนือจากนี้ โรงพยาบาลฯ มีแผนขยายงานตรวจสุขภาพนอกสถานที่ และฉีดวัคซีน โดยตั้งเป้าระยะยาว 5 ปี ตรวจสุขภาพพนักงาน 1,000,000 คน เพิ่มขึ้นปีละ 200,000 คน โดยคาดว่ารายได้ปีแรกประมาณ 160 ล้านบาท
สำหรับแผนการลงทุนจากเงิน IPO การลงทุนในโรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา หลังจากชะลอโครงการเนื่องจากมีโรงพยาบาลเอกชนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2-3 แห่งบนถนนลำลูกกา ขณะนี้มีความชัดเจนที่จะดำเนินการต่อ โดยโรงพยาบาลดังกล่าวจะเป็นโรงพยาบาลรับประกันสังคม ศูนย์เฉพาะทางแม่และเด็ก และเป็นศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ขนาดโครงสร้างอาคาร 180 เตียง แต่เปิดดำเนินการเบื้องต้น 100 เตียง เงินลงทุนไม่เกิน 400-500 ล้านบาท และโครงการลงทุนกับโรงพยาบาลเอกชนที่มีผลกำไรในจังหวัดภาคตะวันออก เนื่องจากเจ้าของโครงการชะลอการลงทุนในจังหวัดภูเก็ตและราคาที่เสนอขายสูงกว่าราคาประเมินมาก ดังนั้นจึงชะลอการลงทุนในโครงการดังกล่าว จนกว่าผลกำไรจะสูงขึ้นเทียบกับราคาหุ้นที่เสนอขาย และมีแผนการขยายลงทุนโครงการแห่งนี้ที่ชัดเจนแล้ว
ดร.อังกูร กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการลงทุนในปี 2563 ลงทุนกว่า 400 ล้านบาท สร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แห่งที่ 2 และอาคารจอดรถอัจฉริยะ โดย LPH มีแผนลงทุนอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แห่งที่ 2 จะเป็นอาคารขนาด 6 ชั้น พื้นที่รวมกว่า 5,000 ตารางเมตร เป็นผู้ป่วยนอก 2 ชั้น รองรับผู้ป่วยนอกได้วันละประมาณ 300 คน จะดำเนินการเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่ทันสมัย อยู่ในระหว่างการศึกษาโครงการและพิจารณาว่าจะเป็นศูนย์โรคมะเร็ง และศูนย์หัวใจ พร้อมหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤต (ICU, CCU) โดยอาจจะเป็นการร่วมลงทุนกับบริษัทที่จัดตั้งโดยคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ
เฉพาะด้านดังกล่าวข้างต้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนห้องพักผู้ป่วยไม่เกิน 30 เตียง สถานที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลานจอดรถเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่เช่าระยะยาว 30 ปี และจะสร้างอาคารจอดรถอัจฉริยะชดเชยพื้นที่จอดรถเดิม ขนาดจอดได้ 300 คัน โดยใช้พื้นที่ในซอยลาดพร้าว 93/1 โดยทั้งสองโครงการคาดว่าจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท
ด้านผลประกอบการของบริษัทฯในงวดไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2562 มีรายได้รวม 387.19 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.37% สาเหตุจากรายได้อื่นที่ลดลง 92.18% มาจากการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินจำนวน 57.82 ล้านบาท ขณะที่รายได้หลักจากการรักษาพยาบาลและให้บริการโต 1.26% เป็นผลจากผลประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลที่ลดลง 1.41% และรายได้การให้บริการของบริษัทย่อย บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอซีย จำกัด (AMARC) เติบโตขึ้น 25.56%
ขณะที่กำไรสุทธิรวมส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่มีจำนวน 35.46 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 39.92 ล้านบาท หรือลดลง 52.96% เนื่องจากปีที่ผ่านมามีกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินจำนวน 57.82 ล้านบาท
"บริษัทฯมีรายได้ผู้ป่วยทั่วไปขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.68% รายได้ประกันสังคมลดลง 7.68% และรายได้จากการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 33.55% (ไม่รวมรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สิน) และค่าใช้จ่ายรวมไม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนหักภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 24.65% เทียบกับไตรมาส 1/2561 ทั้งนี้ไม่รวมกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินในไตรมาสที่ 1 ปีที่ผ่านมา" ดร.อังกูร กล่าว