กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ไอเวิร์คพีอาร์
ราชวิทยาลัยอายุแพทย์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่อง"สังคมผู้สูงอายุ :วัคซีนที่ต้องฉีด" และ"สังคมไทย : ทางไปของกัญชา"
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสังคมผู้สูงอายุ : วัคซีนที่ต้องฉีด"ว่า การติดเชื้อในผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ เพราะเมื่อผู้สูงอายุมีการติดเชื้อโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วยเช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง หรือป่วยเป็นมะเร็งจะมีอาการที่รุนแรงและต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรืออาจเสี่ยงต่อความพิการหรือเสียชีวิตได้ ประกอบกับสังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรเด็กและวัยทำงาน ซึ่งหมายถึงว่าจะเกิดภาวะพึ่งพาโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขมากขึ้น ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุและการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บป่วย และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลอีกด้วย ปัจจุบันการให้วัคซีนป้องกันโรคแก่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังได้รับการสนับสนุนในหลายประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยยังพบว่าอัตราการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคเรื้อรังอยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากแพทย์และผู้สูงอายุไม่เข้าใจ ถึงความสำคัญของการป้องกันโรคที่มีความรุนแรง ดังนั้นคนในครอบครัวคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้านให้มีสุขภาพที่แข็งแรงด้วยปัจจัยพื้นฐาน และการสนับสนุนการป้องกันโรคติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีนเพียงเท่านี้ สังคมสูงอายุก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ในปัจจุบันวัคซีนที่แพทย์ควรพิจารณาสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญและพบเป็นสาเหตุที่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือป่วยหนักทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่พบได้ในผู้สูงอายุเช่น วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ วัคซีนป้องกันงูสวัด ก็มีความสำคัญเช่นกัน
ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวว่าโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อโดยการหายใจหรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือหญิงตั้งครรภ์ อาจมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ทำให้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทำได้โดยการรักษาอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือและการฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดการเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากปอดบวมและลดการเสียชีวิตได้ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่โดยฉีดเข้ากล้ามบริเวณต้นแขนปีละ 1 ครั้งทุกปี นอกจากนี้ยังควรฉีดวัคซีนแก่บุคคลซึ่งใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูงกล่าวข้างต้น เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงเมื่อตนเองป่วย ผู้สูงอายุที่มีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อปอดบวมโดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส มักต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและบางรายมีอาการรุนแรง มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตหรือเสียชีวิต ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรียนิวโมคอคคัส โดยแนะนำให้ฉีดแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อปอดบวมรุนแรงดังกล่าวข้างต้น การฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียงแต่มักไม่รุนแรงและมักเป็นอาการเฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดและหายได้ภายใน 2-3 วัน
ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวต่อว่า การกระตุ้นภาครัฐและภาคประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุโดยเฉพะการป้องกันโรคเป็นสิ่งสำคัญ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้ เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำ " แนวทางการให้วัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ " เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังอย่างถูกต้องและเหมาะสม สร้างความตระหนักในการดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยและผู้สูงอายุผู้ในครอบครัว ในด้านการป้องกันโรคและผลักดันภาครัฐ สังคม และเอกชน ให้เห็นความสำคัญในการสนับสนุนการให้วัคซีนแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันสถานเสาวภา สภากาชาดไทยได้มีการจัดทำโปรแกรม " สถานเสาวภา" (ดังรูป) เพื่อให้แพทย์และประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ถึงวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังที่ควรได้รับการฉีดตามคำแนะนำดังกล่าว ซึ่งสามารถเข้าใช้ได้โปรแกรมได้โดยผ่านทาง QR Code หรือ http:medschedule.md.chula.ac.th/vaccine
สังคมไทย : ทางไปของกัญชา"
ด้าน ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง "สังคมไทย : ทางไปของกัญชา" เรื่องข้อสรุปข้อมูลทางการแพทย์ของสารกลุ่มแคนนาบินอยด์และกัญชาว่า กลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) เป็นกลุ่มสารที่พบในพืชกัญชามีสารอยู่หลายชนิด ชนิดที่มีข้อมูลใช้ทางการแพทย์มากมีสองชนิดคือ tetrahydrocannabinol (THC) และ cannabidiol (CBD) ทั้งสองสารเป็นสารที่ละลายในไขมัน สาร THC ในขนาดที่เหมาะสมจะมีผลในการลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ แต่หากได้รับในขนาดสูงจะทำให้มีอาการเมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้การตัดสินใจและความจำ นอกจากนี้การใช้สาร THC ขนาดสูงสม่ำเสมอทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร (tolerance) ทำให้ต้องมีการเพิ่มขนาดเพื่อจะให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดยาได้ สาร CBD เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอาการเมาเคลิ้มและอาการทางจิตของ THC มีการศึกษาใช้สาร CBD เพื่อควบคุมอาการชักและอาการปวด สาร CBD ยังไม่พบว่าทำให้เกิดการดื้อหรือติด ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดสาร THC เป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 คือ มีโอกาสเสพติดได้มีโอกาสนำไปใช้ในทางที่ผิด แต่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่จัดให้สาร CBD ไม่เป็นสารเสพติด สำหรับพืชกัญชายังนับว่าเป็นสารเสพติดประเภทที่ 1
พืชกัญชาแต่ละพันธุ์จะมีระดับสาร THC และ CBD แตกต่างกัน ขณะเดียวกันเทคนิคการปลูกก็มีผลต่อระดับสารเหล่านี้ด้วย ผลที่ได้จากการใช้กัญชาจากแต่ละแหล่งจึงแตกต่างกันได้ ในกลุ่มที่ต้องการฤทธิ์เมาเคลิ้มหรือนำมาเพเพื่อสันทนาการจะพยายามพัฒนาให้กัญชามีระดับ THC สูง และมี CBD ต่ำ ในการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าระดับค่าเฉลี่ยของ THC ในพืชกัญชาเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 4 ในปี ค.ศ. 1995 เป็นร้อยละ 12 ในปี ค.ศ. 2015 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของสาร CBD ลดลงจากเดิมร้อยละ 0.5 ในปี ค.ศ.2000 เหลือเพียงร้อยละ 0.1 ในปี ค.ศ. 2015 การจะนำกัญชาและสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มาใช้ในทางการแพทย์ จะต้องควบคุมให้พืชที่นำมาใช้มีมาตรฐาน (standardize) มีปริมาณสารที่คงที่และไม่มีสาร THC สูงจนเกินไปและต้องไม่มีสารปนเปื้อน ในปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากกัญชาในรูปน้ำมัน เนย และขี้ผึ้ง ซึ่งจะนำไปแปรรูปต่อเป็นขนมหรืออาหารซึ่งพบว่ามีระดับ THC สูงมากกว่าที่พบในธรรมชาติหลายเท่า โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ดูภายนอกจะไม่ต่างกับขนมหรืออาหารทั่วไปทำให้เกิดการกินโดยไม่ตั้งใจและบาดเจ็บจาก THC เกินขนาดได้
ประโยชน์ที่นำสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มาใช้ทางการแพทย์พบว่า สาร THC สามารถลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ และลดปวดได้ ส่วนสาร CBD มีที่ใช้ทางการแพทย์ในการลดปวดและควบคุมอาการชักได้ สำหรับภาวะอื่น ๆ ยังต้องมีข้อมูลสนับสนุนในคนเพิ่มเติม ปัจจุบันองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ดังนี้ 1.ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่รับยาเคมีบำบัดเมื่อใช้ยามาตรฐานไม่ได้ผล 2.ลดอาการเบื่ออาหารน้ำหนักลดในผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี 3.โรคลมชักรุนแรงสองชนิดที่ชื่อว่า Lennox-Gastaut syndrome และ Dravet syndrome ขณะที่ประเทศออสเตรเลียจะเพิ่มให้ใช้กรณีควบคมอาการปวดเรื้อรัง รักษาอาการปวดจากโรคเอ็มเอส ลดปวดและคลื่นไส้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งข้อบ่งชี้ของทางออสเตรเลียนั้นกำหนดไว้ว่าให้ใช้เมื่อการรักษามาตรฐานยังได้ผลไม่ดีเท่านั้น
ผลระยะยาวของการเสพกัญชาพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคจิต การฆ่าตัวตาย การติดยา สมองฝ่อ ความคิดความจำผิดปกติ เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งอัณฑะ การสื่อสารให้เข้าใจการใช้สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ทางการแพทย์นั้นแตกต่างจากการเสพกัญชา ข้อมูลของรัฐโคโลราโดพบผู้ที่เสพติดกัญชาเพิ่มขึ้น ผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่ตรวจพบสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มากขึ้น ผู้ที่ทำร้ายตนเองที่ตรวจพบสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มากขึ้น และพบว่ามีอัตราการนอนโรงพยาบาลจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับกัญชามากขึ้น หลังการประกาศใช้กัญชาทางการแพทย์และเสรีกัญชา ในรัฐอื่น ๆในสหรัฐอเมริการที่อนุญาตใช้แคนนาบินอยด์ทางการแพทย์บางรัฐมีการจำกัดปริมาณ THC ให้ต่ำและ CBD ให้สูง ขณะที่รัฐที่เปิดเสรีกัญชามีการควบคุมระดับ THC ในผลิตภัณฑ์และมีการติดตามและจำกัดปริมาณการซื้อผลิตภัณฑ์ต่อคน
สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ในขนาดที่เหมาะสมมีประโยชน์ทางการแพทย์บางข้อมีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอแล้วอีกหลายข้อยังต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่หากไม่มีการควบคุมระดับสารให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและมีมาตรฐานสารกลุ่มแคนนาบินอยด์และกัญชาก็มีผลข้างเคียงและโทษต่อสุขภาพ