กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ธนาคารไทยพาณิชย์ และมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทย ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ Intel International Science and Engineering Fair ครั้งที่ 70 (Intel ISEF 2019) คว้า 5 รางวัลใหญ่แกรนด์อวอร์ด (Grand Awards) ในสาขาเคมี ซอฟต์แวร์ พืช และพลังงานกายภาพ และรางวัลพิเศษอีก 3 รางวัล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองฟีนิกส์ มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมี ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. และ รศ.ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกสมาคมฝ่ายวิเทศนสัมพันธ์และกิจกรรมต่างประเทศ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมนำทีมพาน้องๆ เข้าประกวดแข่งขัน สำหรับรางวัล มีดังนี้
1. "กังหันลมระบบไฮบริดสำหรับผลิต กระแสไฟฟ้าและเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยวงแหวนแม่เหล็กถาวร" พัฒนาโดย นายรังสิมันต์ กุลเพชรจิระ นายวรวิช ศรีคำภา นายจิตรภณ ขจรภิรมย์ อาจารย์ที่ปรึกษา นายจรูญ เถื่อนกูล โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก ได้รับรางวัลที่ 3 ในสาขาพลังงานกายภาพ พร้อมทุนการศึกษา 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
2. โครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" พัฒนาโดย นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ นางสาวสุทธิดา เอี่ยมสอาด อาจารย์ที่ปรึกษา นายนิรันดร์ เหลืองสวรรค์ โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลที่ 3 ในสาขาวิทยาศาสตร์พืช พร้อมทุนการศึกษา 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
3. โครงงาน "การพัฒนานวัตกรรมชุดทดสอบเซนเซอร์เชิงสีเพื่อตรวจวัดปริมาณคลอรามีนในสระว่ายน้ำโดยตรง: แนวคิดใหม่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ" พัฒนาโดย นางสาวอธิชา สันติลินนท์ นายณัฐประวีร์ ปัถยาวิชญ์ และนายณภัทร สัจจมงคล อาจารย์ที่ปรึกษา นายเกียรติภูมิ รอดพันธ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม ได้รับรางวัลที่ 4 ในสาขาเคมี พร้อมทุนการศึกษา 500 เหรียญสหรัฐฯ
4. โครงงาน "การประมวลผลปริมาณเนื้อข้าวโพดหวาน ด้วยวิธีการ Image Processing" พัฒนาโดย นางสาวณีรนุช สุดเจริญ นางสาวชนิกานต์ พรหมแพทย์ นางสาวพรชนัญญ์ มั่งมีธนพิบูลย์ อาจารย์ที่ปรึกษา นายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ได้รับรางวัลที่ 4 ในสาขาซอฟต์แวร์ระบบ พร้อมทุนการศึกษา 500 เหรียญสหรัฐฯ
5. โครงงาน "การพัฒนาไฮโดรเจลสำหรับกำจัดหอย ที่เป็นศัตรูพืชในทางการเกษตรจากยางไม้ ในท้องถิ่น" พัฒนาโดย นางสาวนัทธมน ศรีพรม นางสาวรมิตา เชื้อเมืองพาน นางสาวพันธ์อนงค์ ชื่นโชคชัย อาจารย์ที่ปรึกษา นายสุธิพงษ์ ใจแก้ว โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ได้รับรางวัลที่ 4 ในสาขาวิทยาศาสตร์พืช พร้อมทุนการศึกษา 500 เหรียญสหรัฐฯ
นอกจาก 5 รางวัลใหญ่แล้ว ทีมเยาวชนไทยยังได้รับรางวัลพิเศษอีก 3 รางวัลจากงาน Intel ISEF คือ
1. โครงงาน "การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำ จากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตาย ของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง" พัฒนาโดย น.ส.น้ำผึ้ง ปัญญา นายเจษฎา สิทธิขันแก้ว นายพิรชัช คชนิล และอาจารย์ที่ปรึกษา นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ที่ได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 2 จาก USAID องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development-USAID) พร้อมทุนการศึกษา 3,000 เหรียญสหรัฐฯ
2. โครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" พัฒนาโดย นายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ น.ส.สุทธิดา เอี่ยมสอาด อาจารย์ที่ปรึกษา นายนิรันดร์ เหลืองสวรรค์ โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลที่ 2 ในสาขาชีวภาพจาก สมาคมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ Sigma Xi พร้อมทุนการศึกษา 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
3. โครงงาน "การสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กบนคาร์บอนจากน้ำมันหมูเหลือใช้ เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล" พัฒนาโดย นายปุถุชน วงศ์วรกุล นายชวิศ แก้วนุรัชดาสร นางสาวภัทรนันท์ บุญชิต อาจารย์ที่ปรึกษา นายภาณุพงศ์ ภูทะวัง โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ได้รับรางวัลเกียรติบัตรชมเชย จากสมาคมเคมีแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ งาน Intel International Science and Engineering Fair ครั้งที่ 70 (Intel ISEF 2019) เป็นการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 17 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองฟินิกส์ มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจากทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ ผู้เข้าร่วมแข่งขันมากถึง 1,886 คน โดยประเทศไทยได้ส่งผลงานเยาวชนไทยเข้าร่วมถึง 17 โครงงาน โดยการสนับสนุนของหลายหน่วยงาน ได้แก่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มูลนิธิอินเทล ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งในปีนี้ได้สร้างชื่อและประสบความสำเร็จคว้ารางวัลกลับมาฝากคนไทยมากถึง 8 รางวัล