กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ปตท.
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- 12 พ.ค. 62 เรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย จำนวน 2 ลำ และนอร์เวย์ 1 ลำ และเรือบรรทุกน้ำมันสำหรับการเดินเรือ (Bunker) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ลำ ถูกก่อวินาศกรรมเสียหายใกล้ท่า Fujairah ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยไม่มีผู้ประกาศแสดงความรับผิดชอบ
- 14 พ.ค. 62 กลุ่มก่อการร้ายใช้โดรนติดอาวุธโจมตีสถานีสูบถ่ายน้ำมันดิบของระบบการขนส่งทางท่อ East-West (กำลังการสูบถ่าย 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ของซาอุดิอาระเบีย โดยกลุ่ม กบฎ Houthi ออกมารับผิดชอบการกระทำดังกล่าว
- 14 พ.ค. 62 กองกำลังติดอาวุธภายใต้การสนับสนุนของซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าโจมตีกลุ่มกบฎ Houthi ในเยเมน ขณะที่กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ เคลื่อนเข้าสู่น่านน้ำใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ ขณะที่กษัตริย์ Salmam ของซาอุดีอาระเบียเรียกประชุมฉุกเฉินกลุ่มGCC (Gulf Co-operating Council) เพื่อหารือสถานการณ์ตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซีย วันที่ 30 พ.ค. 62 ที่นครเมกกะประเทศซาอุดีอาระเบีย
- รายงานฉบับเดือน พ.ค. 62 ของ International Energy Agency (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี พ.ศ. 2562 จะเฉลี่ยอยู่ที่100.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่า 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งแรก โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.30 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ลดลงจากการประเมินครั้งก่อน 0.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี IEA คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันที่ผลิตจากกลุ่ม OPEC (Call on OPEC) ในปีนี้อยู่ที่ 30.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อน 0.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน และลดลงจากการประเมินครั้งก่อน 0.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอุปทานจากผู้ผลิตกลุ่มNon OPEC อาทิ สหรัฐฯ และบราซิลเพิ่มขึ้น
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานอัตราการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นจีน ในเดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 % อยู่ที่ 12.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่น Hengli (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) เริ่มเดินเครื่อง ในเดือน ม.ค. 62 และคาดว่าจะผลิตเต็มกำลังได้ในวันที่ 25 พ.ค. 62
- Energy Information Administration (EIA) รายงานสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 917,000บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 7.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค.
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3 แท่น มาอยู่ที่ 802แท่น ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 61
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ขึ้นภาษีตอบโต้กัน วันที่ 10 พ.ค. 62 สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ประมาณ 5,700 รายการ จาก 10 % เป็น 25 % มูลค่ารวม 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump สั่งให้เตรียมดำเนินการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ที่เหลือเป็นมูลค่ารวม 325,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ล่าสุด 13 พ.ค. 62 กระทรวงการคลังจีนประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ จำนวน 5,140 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 62 โดย น้ำมันดิบสหรัฐฯ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ถูกเรียกเก็บภาษี 25 %
- EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งผลิตสำคัญของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 62 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 83,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 8.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยแหล่ง Permian Basin เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 56,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 4.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่ ก.พ. 62
- Bloomberg รายงานอัตราความร่วมมือลดปริมาณการผลิต (Compliance Rate) ของ OPEC ในเดือน เม.ย. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 7 % อยู่ที่ 151 % จากอิรักและไนจีเรียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 472ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 60 อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.10ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8,864 สัญญา มาอยู่ที่ 397,311 สัญญา
- CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 13,062 สัญญา มาอยู่ที่ 262,638 สัญญา ลดลงต่อเนื่อง 3 สัปดาห์
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันผันผวนจากแรงเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หลังบริษัท Google ได้ประกาศระงับการให้บริการกับ Huawei ในวันที่ 20 พ.ค. 62 อย่างไรก็ดีมีระยะเวลาผ่อนผัน 90 วัน และล่าสุด Bloomberg รายงานบริษัทผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลก 3 ราย ได้แก่ Intel, Qualcomm และ Broadcom เตรียมระงับการผลิตและจัดส่งชิปให้กับ Huawei เช่นกัน ทั้งนี้สงครามทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่ นาย Donald Trumpประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ผลิตโดยองค์กรที่สร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 62 โดยให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ร่างแผนเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ภายใน 150 วัน บริษัท Morgan Stanley ได้ออกมากล่าวเตือนว่าหากจีนและสหรัฐฯ ไม่สามารถตกลงกันได้ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย และธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องกลับมาดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 0% ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค. - มิ.ย.) ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปเรื่อยๆ ย่อมหมายถึงระบบเศรษฐกิจโลกอาจแตกตัวดังเศรษฐกิจฟองสบู่อีกครั้ง ด้าน OPEC ในการประชุมวันที่ 19 พ.ค. 62 ที่กรุง Jeddah ประเทศซาอุดีอาระเบีย นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียส่งสัญญาณว่า OPEC และชาติพันธมิตร พร้อมจะขยายกรอบเวลาการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบต่อไปในครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2562 เพื่อลดปริมาณน้ำมันดิบในคลังสำรองของโลกให้เข้าสู่ระดับปกติ ซึ่งBloomberg รายงานความร่วมมือในการจำกัดการผลิต (Compliance Rate) ของกลุ่ม OPEC ในเดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 151% และ OPEC อยู่ระหว่างการพิจารณาเลื่อนการประชุมสามัญครึ่งปี จากเดิม 25-26 มิ.ย. 62 ออกไปเป็น 3-4 ก.ค. 62 ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.0-74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 60.0-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.5-73.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของศรีลังกาและฟิลิปปินส์ประกอบกับกรมศุลกากรเวียดนามรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 11.14 % อยู่ที่ 76,000 บาร์เรลต่อวัน และ โรงกลั่น Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. ของอินเดียปิดซ่อมบำรุงหน่วย CDU-2 (กำลังการกลั่น 60,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 22 เม.ย. 62 และหน่วย CDU-3 (กำลังการกลั่น 96,000บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 9 พ.ค. 62 โดยใช้เวลาดำเนินการหน่วยละ 30-40 วัน ขณะที่หน่วย CDU-1 (กำลังการกลั่น 142,000 บาร์เรลต่อวัน) เดินเครื่องกลั่นน้ำมันตามปกติที่ระดับ 112 % ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 15 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.16 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.16 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 180,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.91 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานโรงกลั่น Hengli (กำลังการกลั่น 175,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ประเทศบรูไนนำเข้าน้ำมันดิบเที่ยวแรก เพื่อเตรียมเริ่มเดินเครื่องโรงกลั่นคาดว่าจะสามารถเดินเครื่อง 100 % ในเดือน ก.ค. 62 และ Petroleum Planning and Analysis Cell ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินในเดือน เม.ย. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 4.7% อยู่ที่ 650,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.5-80.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก Reuters รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากเอเชียสู่ยุโรปเปิด และ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลเดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.0 % อยู่ที่ 1.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับPlatts รายงานโรงกลั่น Guangzhou (กำลังการกลั่น 265,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinpoec ในจีนส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 157,000 บาร์เรล อยู่ที่ 188,000 บาร์เรล ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 15 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 240,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.37 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม PAJ รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 310,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.57 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82-87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล