กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- พระอาจารย์อารยวังโส ผู้ริเริ่มวันมาฆบูชาโลก กับบทบาทการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – อินเดีย รอบด้าน
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาอินเดียศึกษา ครั้งแรกในประเทศไทย แด่พระครูภาวนาวิริยวัฒน์ (พระอาจารย์อารยวังโส) ผู้ที่มีบทบาทพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย – อินเดีย ทั้งด้านศาสนา เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการศึกษา อาทิ การฟื้นฟูวัดเวฬุวัณมหาวิหาร นครราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ศาสนสถานสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก และนำมาซึ่งการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในบริเวณศาสนสถานดังกล่าว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระดับประชาชน (People to people exchange) รวมถึงการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านอินเดียศึกษา เป็นพระอาจารย์วิทยากรนำนักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ไปศึกษาวิถีชีวิตของชาวอินเดียท้องถิ่น เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดพิธีดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pbic.tu.ac.thหมายเลขโทรศัพท์ 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดพิธีถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาอินเดียศึกษา ประจำปี 2560 แด่ พระครูภาวนาวิริยวัฒน์ (พระอาจารย์อารยวังโส) จากการที่วิทยาลัยเล็งเห็นบทบาทของพระอาจารย์อารยวังโส ในด้านการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย – อินเดีย ในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา นับเป็นการอุทิศตนต่อการสร้างคุณประโยชน์ต่อทั้งประเทศไทยและอินเดีย ที่ควรค่าแก่การได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
ผศ. ดร. นิธินันท์ กล่าวเพิ่ม พระอาจารย์อารยวังโส มีบทบาทเป็นผู้ผลักดันวันมาฆบูชาโลก โดยการเข้าไปฟื้นฟูวัดเวฬุวัณมหาวิหาร นครราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ศาสนสถานสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก ที่เป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ "จาตุรงคสันนิบาต" ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา การเข้าไปบูรณะพระอารามดังกล่าว เปรียบเสมือนการฟื้นฟูบทบาททางพุทธศาสนาให้กลับมาสู่จิตใจชาวพุทธในชมพูทวีปอีกครั้ง อีกทั้งเป็นการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนชาวอินเดียที่อยู่อาศัยในบริเวณวัดเวฬุวัณ ไม่ว่าจะเป็น การค้าขาย รวมถึงให้บริการด้านการท่องเที่ยวแก่ชาวพุทธทั่วโลกที่เดินทางมาแสวงบุญในบริเวณพระอาราม ทำให้ประชาชน ไปจนถึงภาครัฐของอินเดีย ยกย่องพระอาจารย์อารยวังโสให้เป็น "บุคคลที่ชาวพุทธในอินเดียเคารพนับถือ" จะเห็นว่าบทบาททางด้านการผลักดันวันมาฆบูชาโลก และการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพระอารามทำให้พระอาจารย์อารยวังโสกลายเป็นคนไทยที่มีบทบาทขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย – อินเดีย ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นอกจากบทบาทด้านการฟื้นฟูศาสนสถานสำคัญของโลกในประเทศอินเดียแล้ว พระอาจารย์อารยวังโสยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระดับประชาชน (People to people exchange) จากการที่คนไทยและอินเดีย มีการไปมาหาสู่กันมากขึ้น ทั้งชาวพุทธไทยที่ศรัทธาในการไปแสวงบุญถึงดินแดนชมพูทวีปอันศักดิ์สิทธ์ และชาวอินเดียที่รู้จักประเทศไทยมากขึ้น ในฐานะประเทศที่รับอิทธิพลทางด้านศาสนา และวัฒนธรรมมาจากอินเดีย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียในระดับประชาชน มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น อีกทั้งส่งผลดีต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ในระดับประเทศ สำหรับบทบาททางด้านการศึกษา พระอาจารย์อารยวังโสยังเป็นผู้ผลักดันให้คนไทยมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับอินเดียมากขึ้น โดยเป็นองค์ที่ปรึกษาศูนย์อินเดียศึกษา พ.ศ. 2553 – 2559 เป็นพระอาจารย์วิทยากรนำนักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ไปศึกษาวิถีชีวิตของชาวอินเดียท้องถิ่น เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม อีกทั้งได้ศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญประเทศอินเดียโดยตรง
"ปัจจุบัน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ. ได้ยกระดับหลักสูตรอินเดียศึกษาให้มีคุณภาพและมีความเป็นสากลยิ่งขึ้น จากความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาลอินเดีย สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ที่มีส่วนช่วยพัฒนาหลักสูตรอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งการสนับสนุนบุคลากรชาวอินเดียเป็นอาจารย์หลักสูตรอินเดียศึกษา การผลักดันความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในอินเดีย รวมถึงพระอาจารย์อารยวังโส มีบทบาทในด้านการเป็นองค์ที่ปรึกษาศูนย์อินเดียศึกษา และเป็นวิทยากรนำนักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ไปศึกษาวิถีชีวิตของชาวอินเดียท้องถิ่น ถึงประเทศอินเดีย จึงเป็นที่มาของการเสนอชื่อพระอาจารย์อารยวังโส ให้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2560 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป" ผศ. ดร. นิธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ พิธีถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอินเดียศึกษา ดังกล่าวถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสะท้อนบทบาทการสนับสนุนความสัมพันธ์ไทย – อินเดีย อย่างรอบด้าน ของพระอาจารย์อารยวังโส อีกทั้งเป็นคุณประโยชน์ต่อหลักสูตรอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ได้จัดพิธีดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pbic.tu.ac.thหมายเลขโทรศัพท์ 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU