กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
จังหวัดกระบี่ ครบรอบการก่อตั้ง 147 ปี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมาท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาซึ่งอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2561รัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้ จังหวัดกระบี่ เป็น 1ใน 3 ของเมืองศิลปะ นายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกระบี่ บอกว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจาก "การนำศิลปะ มาสร้างเมือง"โดยการสนับสนุน ส่งเสริมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคทั้งภาครัฐ เอกชนและสถานศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อนงานศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ ไปสู่การสร้างสรรค์โครงการสำคัญๆในระดับนานาชาติ
สำหรับ"โครงการเทศบาลพบประชาชนในวาระครบรอบการก่อตั้งเมืองกระบี่ 147 ปี กระบี่เมืองศิลปะ"จัดขึ้นที่บริเวณลานประติมากรรมปูดำ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยมีพันตำรวจโทหม่อมหลวงกิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนางสาวสมลักษณ์ คล่องแคล่ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมงานวิจิตรศิลป์(ทัศนศิลป์) ผู้แทนสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆมากมาย เช่น กิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 6 ฐาน ได้แก่ ฐานจิตรกรรม ฐานเรซิ่น ฐานดนตรีร่วมสมัย ฐานออกแบบเครื่องแต่งกาย ฐานDIY ศิลปะทำมือ และฐานถ่ายภาพ นิทรรศการผลงานศิลปะ กิจกรรม Street Art การสาธิตและออกบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนเทศบาล ทั้งด้านผลงานศิลปะและการแข่งขันทำอาหารพื้นเมือง
นางสาวนฤมล ปรายกระโทก ครูประจำโรงเรียนบ้านไสไทยกล่าวว่า รู้สึกประทับใจที่ได้นำนักเรียนมาร่วมกิจกรรมในปีนี้ช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะงานศิลปะด้านจิตรกรรมเพิ่มเติมจากในห้องเรียน ซึ่งช่วยให้เด็กนักเรียนมีสมาธิมากขึ้นด้วย
ด้านนายพงศกร สังศรีแก้ว (น้องแชมป์) ตัวแทนนักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนเทศบาล 2 คลองจิหลาดกล่าวว่า ชอบถ่ายภาพและอยากประกอบอาชีพทำงานเบื้องหลังวงการโทรทัศน์ ได้ฝึกฝนเทคนิคการถ่ายภาพและตกแต่งภาพเบื้องต้นจากพี่ๆกลุ่มละครมาหยาอยากขอบคุณหน่วยงานภาครัฐที่เห็นคุณค่าในศิลปวัฒนธรรมของชาวกระบี่และให้การส่งเสริม ในฐานะเยาวชนจะตั้งใจเรียน เพื่อช่วยกันรักษาและสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่สืบไป
ส่วนฐานเรซิ่น มีนายคีตการ แก้วเล็ก ศิลปินอิสระทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนประจำฐาน โดยในช่วงบ่ายมีนักเรียนจากสถานศึกษาต่างๆในจังหวัดกระบี่ ให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ด้านนางสาวนิษิตา แดงบาย (น้องโซญ่า)นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนเทศบาล 2 คลองจิหลาด กล่าวว่า เพื่อนๆชวนกันมาอบรมในฐานโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ชม.ก็สามารถประดิษฐ์โมเดลรถจากเรซิ่น พร้อมลงสี และนำมาประกอบกับตะขอแขวนเสื้อผ้า ใช้เป็นของตกแต่งบ้าน เช่น ราวแขวนเสื้อ แม็กเน็ตติดที่ประตู หรือตู้เย็น และประยุกต์เป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆได้
ด้าน นางสาวนิตยา แดงขาว วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากร้านย้อมรัก จังหวัดกระบี่ กล่าวว่าฐานการออกแบบเครื่องแต่งกาย (มัดย้อม) ได้รับความสนใจจากกลุ่มแม่บ้านและเยาวชนเป็นจำนวนมาก จึงแบ่งการอบรมเป็นวันละ 2 รอบ เพื่อความใกล้ชิดในการให้คำปรึกษาด้านเทคนิควิธีและรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่การเลือกผ้า การมัดลาย การผสมและย้อมสีคราม ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นสีครามปลอดสารพิษ รู้สึกภูมิใจที่ได้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คณะบุคคลและกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งใจนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนในอนาคต
ด้วยมุมมองจากคนตัวเล็กๆแต่ทว่ายิ่งใหญ่ และงดงามด้วยความภาคภูมิใจ เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งสร้างสรรค์อันหลากหลายเหล่านี้ คือ คุณค่าจากผลิตผลในงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่หลอมรวมอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนชาวกระบี่มาโดยตลอด