กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 -2579 มาตรการ EE3 การใช้มาตรฐานและติดฉลากอุปกรณ์ (MEPS & HEPS) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานประชุมชี้แจงผู้ประกอบการยื่นขอฉลากประหยัดพลังงาน ใน "โครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก ปี 2562" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยเปิดรับสมัคร พ.ค.-มิ.ย. 2562 เผยปีที่ผ่านโครงการฯ สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอน เกือบ 8 แสนตันต่อปี ลดการใช้ไฟฟ้าลง 1,411 ล้าน กิโลวัตต์ - ชั่วโมง ต่อปี และคาดว่าปีนี้จะมีผลิตภัณฑ์ติดฉลากใหม่ จำนวนกว่า 19 ประเภทผลิตภัณฑ์ และมากกว่า 900 รุ่นผลิตภัณฑ์
นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า "การติดฉลากประสิทธิภาพสูงนอกจากช่วยส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจในการประหยัดพลังงานแล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้ผู้ผลิตมีการพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และจากการดำเนินโครงการนี้ของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ตั้งแต่ปี 2550 มาถึงปัจจุบัน แสดงในเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนฉลากประสิทธิภาพสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเป็นผลจากความต้องการของประชาชนในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง เนื่องจากสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2562 พพ.ได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหิดล เป็นที่ปรึกษาโครงการ"ส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก ปี 2562" เนื่องจากคณะวิศวะมหิดลมีความรู้ความเชี่ยวชาญระดับสูงด้านการทดสอบค่าประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ และมีห้องปฏิบัติการมาตรฐานสากลที่รองรับการทดสอบ เพื่อดำเนินโครงการนี้ให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.บรรยงวุฒิ จุลละโพธิ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ผลิตภัณฑ์ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ (พพ.) ดำเนินการติดฉลากไปแล้วจนถึงปัจจุบันมี 19 ประเภทผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว เตาแก๊สความดันสูง ฉนวนใยแก้ว กระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ (VSD) มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟส เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เครื่องยนต์แก๊สโซลีนขนาดเล็ก ปั๊มความร้อน เครื่องอัดอากาศ สีทาผนัง เตารังสีอินฟราเรด ชิ้นส่วนคอนกรีตมวลเบา ฟิล์มติดกระจก หลังคากระเบื้อง มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วม เครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้ม และเครื่องเชื่อมไฟฟ้า โดยจะพิจารณาติดฉลากในผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสมและศักยภาพในการประหยัดพลังงาน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการที่ได้รับฉลากจำนวน 174 ราย ในผลิตภัณฑ์จำนวน 2,580 รุ่น ซึ่งส่งผลดีทำให้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 791,820 ตันต่อปี ลดการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวลดลงได้ถึง 30 ล้านกิโลกรัมต่อปี ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 16 ล้านลิตรต่อปี และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ประมาณ 1,411 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นพลังงานที่ลดได้รวม 167.8 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ มูลค่าพลังงานที่ประหยัดได้รวม 5,424 ล้านบาทต่อปี"
ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน "โครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก ปี 2562" นี้ หลังจากจัดประชุมผู้ประกอบการชี้แจงหลักเกณฑ์ขั้นตอนการขอรับฉลาก และการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการ จะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทั้ง 19 ประเภทผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อขอรับฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง กำหนดรับสมัคร สำหรับผลิตภัณฑ์รุ่นเดิมที่เคยได้รับฉลากในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 -27 พฤษภาคม 2562 และรับสมัครผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับฉลาก คั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม - 21 มิถุนายน 2562 โดยสามารถยื่นเอกสารได้โดยตรงที่ หน่วยงานโครงการที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรม ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ศาลายา โทร 02-889-2138 ต่อ 6438 และดาวน์โหลดเอกสาร ได้ที่ http://bit.ly/Label62
จากนั้นทางโครงการฯ จะทำการทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ไม่มีใบรับรองผลการทดสอบค่าประสิทธิภาพพลังงาน และผลิตภัณฑ์รุ่นเดิมที่เคยมีผลการทดสอบค่าประสิทธิภาพพลังงานแล้วแต่เป็นรุ่นที่ได้รับฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงก่อนปี พ.ศ. 2560 โดยทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์จำนวนรวมไม่น้อยกว่า 966 รุ่น/ตัวอย่าง ทำการวิเคราะห์และคำนวณหาค่าประสิทธิภาพพลังงาน พร้อมจัดทำรายงานผลการทดสอบเสนอกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสุดท้ายจะจัดงานมอบฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงแก่ผู้ประกอบการ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเพื่อเผยแพร่ถ่ายทอดความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการฯ จะทำการศึกษาและปรับปรุงแนวทางการประเมิน , พัฒนาระบบฐานข้อมูลฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงของ พพ., ปรับเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในการให้ฉลากของผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งดำเนินการติดตามประเมินผลการซื้อขายหรือการใช้งานสินค้าด้วย เพื่อให้มีการพัฒนาความก้าวหน้าที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก