กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมา จัดอบรมทีมเยียวยาใจระดับอำเภอในเขตสุขภาพที่ 9 ที่มีเกือบ 100 ทีม และนำร่องทีมระดับตำบล 13 ตำบล ฟื้นฟูเทคนิคการเยียวยาจิตใจประชาชนที่ประสบภัยพิบัติและซักซ้อมแผนปฏิบัติงานฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะภัยจากน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนนี้ รวมทั้งวิกฤติความเชื่อเฉพาะถิ่นอาทิ ผีปอบ ป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตอาทิ ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ติดสารเสพติด ซึ่งรายงานวิจัยพบผู้ประสบภัยมีโอกาสเกิดได้ร้อยละ15-40
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดอบรมทีมวิกฤติสุขภาพจิตหรือทีมเยียวยาใจ(Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ประจำเขตสุขภาพที่ 9 ที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาเมื่อเช้าวันนี้ (23 พ.ค.2562) ว่า รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ จัดอบรมทีมเจ้าหน้าที่เยียวยาทางจิตใจของเขตฯ ซึ่งมีเกือบ 100 ทีมครอบคลุมทุกอำเภอ เพื่อฟื้นฟูด้านเทคนิคการเยียวยาจิตใจประชาชนที่ประสบภัยวิกฤตต่างๆ เช่นการปฐมพยาบาลทางใจ การเจรจาในภาวะฉุกเฉิน เช่น การจี้ตัวประกันซึ่งเป็นภาวะวิกฤติทางสังคม ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่นเมายาบ้า เป็นต้น และการจัดการกับบุคคลที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว พร้อมทั้งซักซ้อมการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนในภาวะฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติฉุกเฉินต่างๆ ทุกประเภท โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนนี้ ซึ่งในพื้นที่อาจมีโอกาสเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มได้อย่างทันท่วงที ป้องกันไม่ให้ผู้ประสบภัยเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา รวมทั้งการรับมือวิกฤติที่เกิดจากความเชื่อเฉพาะถิ่นที่เกิดขึ้นเนืองๆ ใน จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ เช่น ผีปอบ ซึ่งจะมีผลกระทบสุขภาพจิตกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ มีผลกระทบรุนแรงกว่าผีแม่หม้ายเป็นต้น
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ ได้พัฒนาทีมเยียวยาจิตใจในระดับตำบล ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยม้าเร็วเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ ทำหน้าที่ชี้เป้าพื้นที่วิกฤติและดูแลจิตใจประชาชนในเบื้องต้นได้ โดยอบรมความรู้ดังกล่าวให้แก่บุคลากรทั้งในและนอกระบบสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในระดับหมู่บ้าน ชุมชน เช่น เจ้าหน้าที่กู้ชีพตำบล กู้ภัย อสม. ผู้ใหญ่บ้าน ครู กำนัน ตำรวจ อปพร.บุคลากรในรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล สร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งกายและใจควบคู่กัน นำร่องมาตั้งแต่ปี 2559 จังหวัดละ 3 อำเภอ จนถึงขณะนี้มีแล้ว 13 ตำบล เช่น จ.นครราชสีมา ที่ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง, จ.ชัยภูมิ ที่ ต. หนองคอนไทย อ.ภูเขียว, จ.บุรีรัมย์ ที่ ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด, ที่ จ.สุรินทร์ ที่ ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จะเร่งขยายให้ครอบคลุม 1 ตำบล 1 อำเภอ ให้ครบทุกอำเภอ
ทางด้านนายแพทย์รัฐพล ธูปอินทร์ จิตแพทย์ประจำรพ.จิตเวชนครราชสีมา กล่าวว่า การเกิดภัยพิบัติแต่ละเหตุการณ์ ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ส่งผลกระทบจิตใจรุนแรงกว่าความเครียดในสถานการณ์ทั่วไป สภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงโดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุการณ์ เกิดอาการต่างๆเช่น ช็อก ตื่นตระหนก หวาดกลัว ตกใจ ฝันร้าย นอนหลับยาก เป็นต้น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปกติที่เกิดขึ้นในสถานการณที่ไม่ปกติ โดยจะปรับตัวค่อยๆ ดีขึ้นประมาณ 6-8 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับพื้นฐานสุขภาพจิตบุคคลและความรุนแรงที่เกิดขึ้น
"ในรายที่ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมอย่างทันท่วงทีมาตั้งแต่ต้น จะมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ โดยเฉพาะความผิดปกติและโรคทางจิตเวช เช่น โรคเครียดหลังได้รับบาดแผลทางจิตใจหรือโรคพีทีเอสดี (Post-Traumatic Stress Disorders : PTSD) ความเครียดและวิตกกังวล โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และติดเหล้าหรือสารเสพติด จากรายงานวิจัยพบผู้ประสบภัยมีโอกาสเกิดได้ร้อยละ 15-40 เช่นกรณีเหตุการณ์สึนามิในภาคใต้ของไทยเมื่อ พ.ศ. 2547 ผลวิจัยติดตามปัญหาสุขภาพจิตในผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือสูญเสียหลังเหตุการณ์ 3 ปี พบว่าเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 2.7 วิตกกังวลร้อยละ 13.4 และมีความทุกข์โศกร้อยละ 15.3 "นายแพทย์รัฐพลกล่าว
ทั้งนี้ในการออกปฏิบัติการของทีมเยียวยาใจ จะมีการประเมินภาวะสุขภาพจิตเพื่อคัดกรองหากลุ่มเสี่ยงเกิดผลกระทบให้เร็วที่สุด ช่วยเหลือฟื้นฟูหรือส่งต่อ และติดตามต่อเนื่องจนหมดความเสี่ยง โดยผู้ที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้แก่ ผู้ที่สูญเสียคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวชอยู่เดิม ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินหรือเครื่องมือทำกิน เด็กและผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือและผู้ประสบเหตุการณ์รุนแรงโดยตรง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบคือการสอดส่องมองหาผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหา การรับฟังสิ่งที่ผู้รับการช่วยเหลือต้องการ และการส่งต่อในรายที่มีความเสี่ยงในการเกิดอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นเพื่อดูแลรักษาโดยเร็ว นายแพทย์รัฐพลกล่าว