กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กระทรวงยุติธรรม
เพราะการถูกเหยียดหยาม และการไม่ยอมรับจากครอบครัวว่าเป็นคนขี้คุก รวมถึงลูกชายวัยเรียนที่ถูกเพื่อนล้อ และบางครั้งถูกดูหมิ่นจากญาติพี่น้องว่าสักวันคงเป็นคนชั่วเหมือนพ่อ ทำให้โกวิทต้องดิ้นรนเพื่อจะเรียกร้องสิทธิความเป็นผู้บริสุทธิ์กลับคืนมา และลบล้างรอยตีตราว่าเป็นคนชั่ว...
โกวิท (นามสมมุติ) ผู้ต้องการเรียกศักดิ์ศรีของผู้บริสุทธิ์ กล่าวว่า การถูกศาลตัดสินมีความผิดในคดีข่มขืนเด็กหญิงข้างบ้านทำให้รู้สึกสิ้นหวัง คับแค้นในใจ เพราะตนไม่ได้ทำความผิด และไม่ทราบว่าสาเหตุการถูกกล่าวหามาจากที่ไหน
“ตอนนั้นลูกยังเล็กมาก อายุแค่ไม่กี่เดือน ครอบครัวก็มีธุรกิจ ต้องดูแลคนงานอีกหลายสิบคน ทั้งยังมีหนี้สิน เมื่อเราถูกจับ ถูกจำคุกพวกเขาจะทำอย่างไร ในช่วง 1-3 ปีแรกที่อยู่ในคุกรู้สึกแค้นมาก คิดว่าออกไปจะต้องแก้แค้นผู้ที่มากล่าวหาให้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจิตใจเริ่มสงบและไม่คิดที่จะเรียกร้องอะไร หากแต่เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วได้กลับไปที่บ้าน ภรรยาก็ไม่ยอมรับไม่ให้เข้าบ้าน ญาติพี่น้องก็เข้าใจว่าเราทำผิดจริง ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อเห็นสภาพของลูกที่ถูกเหยียดหยามถูกล้อว่าเป็นลูกคนคุก คนเป็นพ่อเมื่อรู้ว่าเรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นปมในใจของลูก จึงคิดได้ว่าอย่างไรก็ต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องความบริสุทธิ์ของเรากลับมา อย่างน้อยก็เพื่อให้ลูกได้รับรู้ และรู้สึกอยู่ในใจว่าพ่อไม่ได้เป็นคนไม่ดี”
การเรียกร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่จึงเริ่มขึ้น โดยโกวิทได้ไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากเป็นคดีที่ศาลสูงสุดได้ตัดสินไปแล้ว หลายแห่งแนะนำให้หยุดการเรียกร้อง จนได้พบกับทนายความคนหนึ่งซึ่งเข้าใจเหตุผลของการเรียกร้องสิทธิในครั้งนี้จึงได้แนะนำโกวิทไปที่กระทรวงยุติธรรมเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม โดยได้ขอให้ว่าจ้างทนายความให้สำหรับดำเนินการรื้อฟื้นคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว เพื่อให้มีการพิจารณาใหม่ เพราะโกวิทมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง
นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า แม้ศาลจะมีคำพิพากษาไปแล้ว แต่การรื้อฟื้นคดีนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งรัฐพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ ดังนั้น ถ้าผู้ขอความช่วยเหลือมีหลักฐานและเอกสารที่น่าจะมีมูล คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมจึงได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือให้ผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมได้รับสิทธิที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับการเยียวยาตามสมควรตามที่กฎหมายระบุไว้ ซึ่งในกรณีของโกวิท กองทุนยุติธรรมได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการว่าจ้างทนายความที่มีความชำนาญด้านการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ขณะนี้คดีความอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงานของทนายความในการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่
ทั้งนี้ การขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 กำหนดว่า อาจร้องขอให้รื้อฟื้นให้พิจารณาใหม่ได้เมื่อปรากฏว่า 1. คำเบิกความของพยานบุคคลที่ศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาเป็นเท็จ 2. พยานหลักฐานอื่น ปลอม หรือเป็นเท็จ 3. มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบ จะแสดงว่าผู้นั้นไม่ได้กระทำผิด และหากศาลพิจารณาใหม่แล้วเห็นว่าที่รับโทษแล้ว แต่ไม่ได้กระทำผิดจริง ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้รัฐเป็นผู้จ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่ได้รับโทษซึ่งเป็นผลมาจากคำพิพากษา โดยกระทรวงการคลัง เป็นผู้จ่าย ตามจำนวนวันที่ติดคุกตามและอัตราที่กำหนดไว้ด้วย
นอกจากการให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายทนายความแล้ว กองทุนยุติธรรมยังมีการให้ความช่วยเหลือ ผู้ไม่ได้รับความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมในด้านอื่นอีก ได้แก่ การช่วยเหลือค่าธรรมเนียมศาล ในกรณี ประชาชนที่จะฟ้องร้องคดีแพ่ง แต่ไม่มีเงินที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งกฎหมายระบุว่าจะต้องเสียร้อยละ 2.5 ของทุนทรัพย์ที่มีการฟ้องร้อง การช่วยเหลือเงินประกันตัว ในคดีอาญา เช่น กรณีโดนกลั่นแกล้ง ไม่ได้กระทำความผิดแต่กล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด และการช่วยเหลือค่าตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจลายมือ ตรวจดี.เอ็น.เอ เป็นต้น
นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาเพื่ออนุมัติให้ความช่วยเหลือมีระเบียบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา โดยประเด็นที่สำคัญคือ ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนยุติธรรม รวมถึงฐานะของผู้ร้องขอด้วย ทั้งนี้ จะพิจารณาให้เฉพาะผู้ที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ แต่มีกรณียกเว้นในคดีที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม เช่น คดีร้ายแรง หรือคดีผู้มีอิทธิพล อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นใด หรือเป็นผู้ที่ถูกปฏิเสธจากกองทุนยุติธรรมมาก่อน ในกรณีของการขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเงินประกันตัว ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีและไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ซึ่งอาจจะต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความประพฤติของ ผู้ร้อง โดยหากเป็นกรณีในต่างจังหวัด กองทุนยุติธรรมจะขอความร่วมมือไปยังสำนักงานยุติธรรมเพื่อให้ยุติธรรมจังหวัดตรวจสอบความประพฤติก่อนพิจารณา
“ส่วนการพิจารณาให้การสนับสนุนเรื่องค่าธรรมเนียมศาล หรือค่าทนายความ ต้องดูแนวโน้มการชนะคดีเป็นสำคัญ เพราะเมื่อมีการชนะคดี ค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการดำเนินคดีจะได้รับคืนเพื่อใช้หมุนเวียนในกองทุนยุติธรรมต่อไป ที่ผ่านมากองทุนยุติธรรม นับแต่กองทุนยุติธรรมได้เริ่มดำเนินการ เมื่อปลายปี 2549 ได้จ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนไปแล้วประมาณ 1 ล้านบาท อาจเป็นจำนวนเงินไม่มาก เพราะสิ่งที่มีผู้มาร้องขอส่วนใหญ่ใช้ค่าใช้จ่ายไม่มากนัก”
อย่างไรก็ดี กรณีของโกวิท เมื่อศาลสูงสุดได้พิจารณาไปครั้งหนึ่งแล้วว่าเขาเป็นผู้ผิด แต่การกลับมาพร้อมกับหลักฐานใหม่ซึ่งแสดงความบริสุทธิ์ของเขา ซึ่งความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมถือเป็นก้าวแรกสู่การลบล้างความผิดของโกวิท หากแต่ก้าวต่อไปนั้นยังต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ทั้งนี้ ความหวังของโกวิทคืออยากให้การรื้อฟื้นคดีครั้งนี้ได้เป็นบรรทัดฐาน และเป็นอุทาหรณ์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีทุกขั้นตอน อันจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสังคม และอีกหลายคนที่ประสบปัญหาเช่นนี้.