กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือสถาบัน SMI ผนึกกำลังร่วมกับ สภาวิชาชีพบัญชี จัดทำโครงการ SMEs Clinic ให้คำปรึกษาด้านบัญชี แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยเน้นการปรับปรุงตัวเลขทางบัญชีให้ถูกต้องรวมถึงแนะนำการยื่นภาษีแบบ E-Filing เพื่อสอดรับกับ พรบ.ยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ของภาครัฐ
นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs กว่า 2.8 ล้านราย ปัญหาที่พบหลักๆ คือเรื่องต้นทุนธุรกิจที่สูงและขีดความความสามารถทางการแข่งขันที่ต่ำ รวมถึงการขอสินเชื่อที่ยาก โดยปัจจัยสำคัญของการที่ SMEs ขอสินเชื่อยาก คือ การไม่มีประสบการณ์ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่มีแผนธุรกิจ และบัญชีการเงินที่ไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ ไม่ถูกต้อง โดยสาเหตุหลักๆ ที่ SMEs ไม่ทำบัญชีให้ถูกต้องมีมาตรฐานเพราะคิดว่ายุ่งยาก ไม่เห็นถึงความจำเป็น มีค่าใช้จ่ายในการจ้างนักบัญชีเพิ่ม หรือการเลือกบันทึกเฉพาะตัวเลขที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจตนเองเท่านั้นเพื่อหลบเลี่ยงภาษี ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุน ช่วยเหลือและลดค่าใช้จ่ายด้านบัญชีให้กับ SMEs ให้สามารถบริหารจัดการบัญชีให้มีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือ SMEs ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ พ.ร.บ. ยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มฯไว้ เป็นการเร่งด่วน จึงได้จัดทำ SME Clinic คลินิกให้คำปรึกษาด้านบัญชีในครั้งนี้ขึ้น
นายปรีชา ยังกล่าวอีกว่า คลินิกให้คำปรึกษาด้านบัญชีครั้งนี้ จะนำร่องให้คำปรึกษาใน 2 เดือนก่อน คือ ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2562 ให้คำปรึกษาในทุกวันอังคารและพฤหัสบดี โดยในเบื้องต้นจะใช้เวลาบริษัทละ 1 ชั่วโมง สถานที่เป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิชาชีพบัญชีเข้ามานั่งประจำที่นี่ โดยจะเปิดให้ SMEs ลงทะเบียนจองเวลารับคำปรึกษาได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งสามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.smi.or.th หรือสอบถามที่สถาบัน SMI โทร 02-345-1109
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนนิติบุคคล ทั้งกลุ่มทั่วไปและกลุ่มที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ พ.ร.บ. ยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มฯ ซึ่งยังไม่เข้าใจการปรับปรุงบัญชีให้ถูกต้อง โดยการให้คำปรึกษาครั้งนี้เปิดกว้างทุกปัญหาด้านบัญชี โดยหลังจากนี้ หาก SMEs ให้ความสนใจจำนวนมาก ทางสภา-อุตสาหกรรมฯ และสภาวิชาชีพบัญชีคงจะวางแผนจัดทำโครงการระยะยาวต่อไป
นอกจากการส่งเสริมด้านบัญชีแล้ว สถาบัน SMI ยังมีนโยบายการส่งเสริม SMEs อื่นๆ ได้แก่ สร้างผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ อาทิ กิจกรรมการประเมินศักยภาพนวัตกรรมของ SMEs และส่งเสริม SMEs เข้าสู่องค์กรนวัตกรรม นำ SMEs สู่ตลาดโลกด้วย Platform การตลาดรูปแบบใหม่ๆ ทั้ง online และ offline เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้วย Technology Transformation & New Business Model สร้าง Platform และ Success case เพื่อผลักดันสู่ตลาด MAI และการส่งเสริม SMEs สู่การระดมทุนรูปแบบใหม่ (New Financial Platform) การให้ความรู้และเชื่อมโยง SMEs กับ Start up ด้าน Fintech" นายปรีชากล่าว