กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ย้อนกลับไปในวัยเยาว์ผมมีความใฝ่ฝันอยากเป็นคุณครู อยากสอนหนังสือ อยากถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนตัวเล็กๆ เหมือนเด็กทั่วไป แต่เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป ผมเติบโตขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด มีอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนที่ทันสมัยเข้ามา จึงเริ่มหันมาให้ความสนใจด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น กอปรกับการได้อยู่กับคอมพิวเตอร์บ่อยๆ จึงทำให้อยากทำงานที่อยู่กับคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงเลือกเรียนโปรแกรมวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ด้วยความที่ใจบอกว่าตนเองอยากเป็นนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นครับ!!
"ดรีม" นายเนติวรัตน์ วงษ์สา อายุ 24 ปี นักศึกษาโปรแกรมวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวต่อว่า เนื่องจากตนเป็นลูกคนเดียว ไม่มีพี่หรือน้องเป็นเพื่อนเล่น จึงมีโอกาสได้คลุกคลีกับคอมพิวเตอร์บ่อยๆ แม้ตอนเด็กอยากเป็นคุณครู ก็อยากเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ อยากถ่ายทอดความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้นักเรียน แต่เมื่อเวลาผ่านไปที่ต้องเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษา ตอนนั้นเริ่มอยากเป็นนักพัฒนาซอฟแวร์ โปรแกรมเมอร์แล้ว และในขณะที่เรียนโปรแกรมวิชาเทคนิคคอมพิวเตอร์ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีโอกาสได้เรียนเขียนแอพพลิเคชั่น จึงเกิดความชอบและอยากประกอบอาชีพด้านนี้ จึงเลือกศึกษาต่อในโปรแกรมวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ในขณะที่เพื่อนๆ หลายคนเลือกศึกษาต่อในด้านศึกษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ ตามความสนใจของตัวเอง
พอเริ่มเข้ามาศึกษาวิชาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผลการเรียนอยู่ในระดับปานกลาง ผมได้พบเพื่อนมากมาย ได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์หลายท่าน จึงคิดว่าตนเองมาถูกทางแล้ว ที่เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ เพราะเพื่อนก็มีส่วนสำคัญในการเรียน เราชอบสิ่งที่กำลังเรียนเหมือนกัน พอมาถึงการเรียนในชั้นปีสุดท้าย หลักสูตรกำหนดให้นักศึกษาจะต้องทำปริญญานิพนธ์ (Project) ในภาคการศึกษาสุดท้าย และผลงานต้องตรงกับศาสตร์ที่เรียนมา คือ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ขณะนั้นตนอยากที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาสักตัวหนึ่ง โดยมีแนวคิดมาจากแอพพลิเคชั่นการให้บริการเรียกรถแท็กซี่สำหรับผู้โดยสาร (Grab Taxi) จึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ปริญญา กิตติสุทธิ์ ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ ในเรื่องหัวข้อและขอบเขตการทำงาน จึงได้ข้อสรุปว่าจะทำแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับช่าง ทั้งช่างซ่อมไฟ ช่างซ่อมแอร์ ช่างโทรศัพท์ ช่างซ่อมรถ โดยใช้ชื่อแอพพลิเคชั่นว่า "หมอบ้าน" เพื่อใช้กับสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นหมอบ้าน มี 4 ตัว ได้แก่ 1.Thunkable ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อเนื่องมาจาก MIT A]] Inventor 2 ทำให้มีเครื่องมือต่างๆ ให้ได้ใช้และเรียนรู้มากขึ้น 2.Fusion table เป็นรูปแบบหนึ่งในการให้บริการของ Google Drive โดยให้บริการในการเก็บข้อมูลในรูปแบบของตาราง 3.Cloudinary คือ Software-as-a-Service (SaaS) หรือซอฟท์แวร์แอปพลิเคชั่นที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต 4.API (Application Programming Interface) คือช่องทางการเชื่อมต่อระหว่างเว็บไซต์หนึ่งไปยังอีกเว็บไซต์หนึ่ง หรือเป็นการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานกับ Server หรือจาก Server เชื่อมต่อไปหา Server ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ ผมจะต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองประกอบกับการรับคำปรึกษาจากอาจารย์ปริญญา
ดรีม เล่าเรื่องการเข้าใช้แอพฯ หมอบ้าน ให้ฟังว่า แอพหมอบ้านมีระบบขั้นตอน ดังนี้คือ ให้ผู้ใช้เข้าสู่ Play Store แล้วค้นหาคำว่า "หมอบ้าน" จะพบไอคอนรูปบ้านและเครื่องมือ ให้ผู้ใช้ทำการติดตั้ง เมื่อติดตั้งสมบูรณ์แล้ว จึงเปิดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวขึ้นมา ระบบจะแสดงในส่วนของหน้าแรก ให้ผู้ใช้กดปุ่มเข้าสู่ระบบด้วยเฟสบุค (Facebook) เนื่องจากเฟสบุคจะมีการอ้างอิงระบุตัวตนที่ชัดเจนอยู่แล้ว หลังจากนั้นผู้ใช้งานต้องกรอกข้อมูลตามเงื่อนไขเล็กน้อยเพื่อเข้าสู่ระบบรวมถึงการกรอกรหัสลับเพื่อยืนตัวตน โดยระบบจะทำการคัดลอกโค้ดไว้ให้ผู้ใช้นำไปวางที่ช่องว่าง จากนั้นจึงกดปุ่มดำเนินการต่อ เมื่อเข้าสู่หน้าจอเข้าสู่ระบบที่สมบูรณ์แล้ว แอพพลิเคชั่นจะแสดง ชื่อผู้รับ รูปผู้ใช้ พิกัดของผู้ใช้งาน และสถานที่ของผู้ใช้งาน โดยจะมีเมนูให้เลือกใช้งานตามสิทธิ์ของผู้ใช้งาน และกดเมนูตามที่ผู้ใช้งานต้องการ ได้แก่ ค้นหาช่างซ่อม คือ การค้นหาช่างซ่อมตามประเภทที่ผู้ใช้ขอรับการซ่อม ขอรับการซ่อม คือ ผู้ใช้บันทึกสิ่งที่ต้องการจะซ่อมไว้เพื่อให้ช่างค้นหาเราเองด้วย ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับช่าง หลังการรับบริการ ผู้ใช้จะต้องแสดงความคิดเห็นต่อการได้รับบริการ เพื่อให้ผู้ดูแลระบบพิจารณาต่อไป ในส่วนการขอรับการซ่อมผู้ใช้จะต้องระบุสิ่งที่จะซ่อม และระยะทางการค้นหา (5-10-15-20 กิโลเมตร) แอพพลิเคชั่นจะค้นหาช่างตามเงื่อนไขที่ผู้ใช้กำหนด หลังจากนั้น หน้าจอจะปรากฏไอคอนรูปช่างที่มีขึ้นมา ให้ผู้ใช้กดไอคอมช่างที่ต้องการ จะปรากฏรายการติดต่อขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้ประสานทางโทรศัพท์ต่อไป ซึ่งช่างซ่อมที่ประสงค์จะอยู่ในฐานข้อมูลแอพพลิเคชั่นหมอบ้าน จะต้องลงทะเบียนร้านไว้ โดยการกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อร้าน ชื่อช่าง ทักษะในการซ่อม เบอร์โทรศัพท์ กำหนดวันทำการ รูปภาพในอนุญาตหรือใบประกอบวิชาชีพเพื่อให้ผู้ดูแลตัดสินใจในการอนุมัติให้เป็นฐานข้อมูลของหมอบ้าน ซึ่งในอนาคตผมจะพัฒนาให้เป็นการติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่นแบบเบ็ดเสร็จเลยครับ
ผลงานแอพพลิเคชั่นหมอบ้าน เป็นแอพพลิเคชั่นแรกที่ผมมีโอกาสในการพัฒนาอย่างจริงจัง ถึงแม้ตอนนี้ความสมบูรณ์ของแอพฯ จะยังไม่เต็มร้อย แต่ผมคิดว่าจะพัฒนาแอพฯ นี้ให้สมบูรณ์แบบที่สุด หลังจากนี้เมื่อจบการศึกษาแล้ว ผมจะมุ่งเรื่องที่ให้ร้านมาลงทะเบียน การโปรโมท การประชาสัมพันธ์ การตลาด และพัฒนาระบบให้ทันสมัยพร้อมใช้มากขึ้น เพื่อให้รองรับความต้องการของผู้ใช้งานทั่วประเทศ โดยขณะนี้เปิดให้ร้านช่างต่างๆ มาลงทะเบียนแล้ว ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใช้งานฟรี และในอนาคตหากมีผู้ใช้บริการ 60 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ จึงจะมีการเรียกเก็บเงินจากร้านช่าง ในรูปแบบรายปี แต่ราคาไม่แพง ส่วนผู้ใช้คือใช้สามารถใช้ฟรีได้เลย สิ่งที่ผมได้จากการพัฒนาแอพฯ ในครั้งนี้ คือ ผมได้ความรู้จากการเรียน ความรู้นอกเหนือจากการเรียน การเปิดตำรา การค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เนต รวมถึง ความมานะ อดทนในการพัฒนาผลงาน มีวินัยในการพบอาจารย์ที่ปรึกษา ความพยายามไม่ยอมแพ้เมื่อเจอกับปัญหา และอุปสรรคก็ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจหรือเปลี่ยนแปลงงาน มันส่งผลให้เมื่อเราเรียนจบ เราสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ยอมรับฟังเพื่อนร่วมงานและกล้าแสดงความคิดเห็นครับ และหากร้านช่างซ่อมไฟ ซ่อมคอม ซ่อมโทรศัพท์ ซ่อมอุปกรณ์พื้นฐานในบ้าน และสนใจจะเป็นฐานข้อมูลในแอพฯ หมอบ้าน สามารถดาวน์โหลดแอพฯ เพื่อลงทะเบียนออนไลน์ได้เลยครับ ดรีม กล่าวทิ้งท้าย