กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ไบโอเทค สวทช. จับมือ ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เปิดตัว AmiBase (ASEAN Microbial Database) ฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน หวังสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาค ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ
วันที่ (23 พฤษภาคม 2562) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) เปิดตัว "ฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน หรือ AmiBase (ASEAN Microbial Database) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการรวบรวมข้อมูลของจุลินทรีย์ที่ค้นพบในอาเซียนไว้มากกว่า 30,000 ชนิด ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้มีประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาค ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กล่าวเปิดงาน ณ ห้องโลตัส 10 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
รศ.นพ. สรนิตฯ กล่าวว่า กระทรวงฯ เป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN COSTI) มุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน หรือ AmiBase นี้เป็นผลงานของประชาคมวิทยาศาสตร์อาเซียนด้านเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อนวัตกรรม และความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยแสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนที่ตรงกับแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ของไทยที่ว่า "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" (Advancing Partnership for Sustainability)"
ด้าน ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ไบโอเทคได้พัฒนาความเชี่ยวชาญ สู่การเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำด้านการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ โดยได้ก่อตั้งเครือข่ายอาเซียนด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ (ASEAN Network on Microbial Utilization: AnMicro) ในปี พ.ศ. 2557 ภายใต้การสนับสนุนของคณะอนุกรรมการอาเซียนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ในสถาบันการศึกษาและองค์กรวิจัยในภูมิภาคอาเซียนผ่านเครือข่าย AnMicro นี้
ดร. สมวงษ์ กล่าวต่อไปว่า ฐานข้อมูล AmiBase เป็นอีกโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถแก่นักวิจัยในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลจุลินทรีย์ของอาเซียนซึ่งก่อนหน้านี้เก็บกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ไว้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดการศึกษาการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ และเร่งการค้นพบนวัตกรรมจุลินทรีย์อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจชีวภาพ
ดร. เทเรซ่า มุนดิตา เอส ลิม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ACB) ให้ข้อมูลว่า ACB เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศของอาเซียนที่มุ่งมั่นจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน โดย ACB สนับสนุนกลไกเผยแพร่ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ (Clearing House Mechanism : CHM) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคในการแบ่งปันข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อใช้ในการพัฒนานโยบายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน โดยทาง ACB มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับไบโอเทค ซึ่งเป็นตัวแทนของเครือข่าย AnMicro ในการสร้างฐานข้อมูล AmiBase และการเชื่อมโยงข้อมูลจุลินทรีย์จาก AmiBase ไปสู่ฐานข้อมูลสิ่งมีชีวิตของ CHM จะช่วยทำให้ฐานข้อมูลของ CHM ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างกว้างขวาง
ดร. ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร นักวิจัยไบโอเทค และหัวหน้าโครงการฯ อธิบายว่า ฐานข้อมูล AmiBase จัดตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการข้อมูลจุลินทรีย์ในหลากหลายมิติจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ ข้อมูลพันธุกรรมระดับยีนและจีโนม รายงานการวิจัย และบทความทางวิชาการ ข้อมูลการเก็บรักษา และบริการของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งของ AmiBase เกิดจากการแชร์ข้อมูลจุลินทรีย์ของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียน ที่มีการจัดเก็บข้อมูลจุลินทรีย์ด้วยซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า iCollect ซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัยของไบโอเทค โดยกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในโครงการนี้ที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดตั้ง AmiBase ได้ คือ การสร้างความสามารถด้านการบริหารและการจัดการข้อมูลจุลินทรีย์ ให้กับบุคลากรของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียนผ่านการฝึกอบรมการใช้งานซอฟต์แวร์ iCollect เพื่อให้แต่ละศูนย์ฯ สามารถจัดการข้อมูลจุลินทรีย์ได้อย่างเป็นระบบและยังสามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูล AmiBase ได้เมื่อต้องการ
อย่างไรก็ตาม การบูรณาการข้อมูลจากศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ไม่สามารถครอบคลุมความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่มีการค้นพบ และเคยถูกรายงานได้ทั้งหมดเนื่องจากสายพันธุ์จุลินทรีย์จำนวนมากยังไม่สามารถคัดแยกหรือเลี้ยงในห้องปฏิบัติการได้ ดังนั้น การพัฒนาฐาน AmiBase จึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำการสืบค้น การทำเหมืองข้อมูลและสกัดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์จากการศึกษาวิจัยด้านไมโครไบโอม และเมตาจีโนมิกส์ที่มีอยู่มารวบรวมและจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามลำดับอนุกรมวิธาน ปัจจุบันฐาน AmiBase มีข้อมูลจุลินทรีย์ที่เคยถูกรายงานการค้นพบในอาเซียนมากกว่า 30,000 ชนิด ในกลุ่มแบคทีเรีย อาร์เคีย รา สาหร่าย โปรโตซัว และไวรัส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.amibase.org ทำให้สามารถค้นหาได้ง่ายและสะดวก เว็บไซต์ได้มีการพัฒนาวิธีการนำเสนอข้อมูลแบบกราฟฟิก (Data Visualization) ที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งคัดเลือกข้อมูลเพื่อสร้างกราฟฟิกตามข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป (Data-Driven Document) เพื่อแสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กันเอง และความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กับแหล่งที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ฐานข้อมูล AmiBase ยังมีเครื่องมือวิเคราะห์ออนไลน์ที่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลพันธุกรรมสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ในระดับยีนและจีโนมเพื่อสนับสนุนการค้นพบจุลินทรีย์ชนิดใหม่ และการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลไมโครไบโอมในลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของจุลินทรีย์อีกด้วย
นอกจากนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลจุลินทรีย์เหล่านี้ไปยังกลไกการเผยแพร่ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน (CHM) ของ ACB จะช่วยให้มีข้อมูลในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น และเป็นที่น่ายินดีที่ฐานข้อมูล AmiBase นี้จะมีปริมาณข้อมูลเพิ่มขยายมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียนที่มีส่วนร่วมให้ข้อมูลทั้ง 16 แห่ง ต่างมีความมุ่งหมายจะช่วยเชิญหน่วยงานในประเทศของตนเข้าร่วมในโครงการเพื่อพัฒนาความสามารถของบุคลากรในการจัดการข้อมูลจุลินทรีย์และร่วมพัฒนาฐานข้อมูลจุลินทรีย์ของอาเซียน