กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร และความสามารถในการผลิตวัตถุดิบ อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งต่อการเติบโต คือ "การนำการวิจัยและพัฒนา (Research and development : R&D) มาเสริมมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์"
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เดิม) เผยว่า ฝ่ายอุตสาหกรรมมีพันธกิจในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทย โดยเรามุ่งเน้นไปที่อาหารและเวชสำอางซึ่งมีความต้องการในตลาดสูง และยังสามารถช่วยหนุนเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการทำงาน "ชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House" เป็นการรับโจทย์วิจัยจากความต้องการของภาคเอกชน (Demand Driven) ภายใต้แนวคิด "วิจัยได้ ขายจริง" คุณพิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา ผู้ประสานงาน "ชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House" เสริมว่า การทำงานของเราเป็นการนำ R&D มาสนับสนุนการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเน้นไปที่กลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีมากในไทยแต่ยังขาดทุนในการทำวิจัยเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยเราจะดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยงานวิจัย มาจับคู่กับทีมวิจัยที่เหมาะสม เพื่อร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ นอกเหนือไปจากหน้าที่ตามพันธกิจเรายังให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลด้านการตลาดเพื่อสร้างแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงร่วมดูแลด้านการตลาด ทั้งในเชิงภาพลักษณ์ และการสื่อสารเพื่อการรับรู้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถออกขายทำกำไรได้จริง
คุณพิมพ์ภิดาเสริมว่า การทำงานของเราจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำอย่างเรื่อง "วัตถุดิบ (Raw material) ของประเทศ" ทั้งพืชผัก ผลไม้ สมุนไพร และเนื้อสัตว์ โดยเรามองไปถึงการแปรรูปและสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ นอกจากนั้นเรายังช่วยผู้ประกอบการมองถึงการสร้างความแตกต่างและความโดดเด่นที่จะเป็นข้อได้เปรียบเมื่อออกสู่ตลาด กระบวนการกลางน้ำเราช่วย "พัฒนากระบวนการผลิต (Process)" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า สุดท้ายปลายน้ำสิ่งที่เราช่วยหนุนเสริมคือเรื่องการตลาด (Marketing) เราช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนาการสื่อสารเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ และการทดสอบตลาด โดยมีพี่เลี้ยงทางการตลาดให้คำแนะนำตลอดเส้นทาง ทั้งนี้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีส่วนแบ่งในตลาด ถึงแม้อาจไม่ได้ไปถึงที่ 1 แต่สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กล้วยตากแบรนด์ Banana Society ที่เราได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิต ออกแบบโดมทรงพาราโบลาเพื่อใช้ในการอบกล้วยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ได้กล้วยตากที่สะอาดและปลอดภัย และยังเสริมความแตกต่างจากสินค้าเดิมในท้องตลาดด้วยการคิดค้นการแปรรูปเป็นรสชาติต่าง ๆ อร่อย ถูกใจ กลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ยังคงตำแหน่งการเป็นผู้ประกอบการเบอร์หนึ่งของวงการกล้วยตากมาได้ถึงปัจจุบัน
นอกจากการสนับสนุนในข้างต้นแล้ว Innovative House ยังผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเวชสำอางที่พัฒนาผลิตภัณฑ์จนประสบความสำเร็จ ได้เปิดตัวในเวทีนำเสนอผลงานนวัตกรรมต่อผู้ประกอบการชั้นนำจากทั่วโลกในเวทีต่าง ๆ โดยล่าสุดเวทีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารกำลังจะได้เข้าร่วม คือ งาน "Thaifex 2019" งานแสดงสินค้านวัตกรรมด้านอาหารจากทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ในระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2562 โดยเป็นความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการระหว่าง Innovative House จากฝ่ายอุตสาหกรรม สกสว. กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ การออกงานครั้งนี้ Innovative House ได้คัดเลือก 40 ผลิตภัณฑ์ มาร่วมโชว์สินค้าใน 2 โซน โซนแรก Food Innovation Pavilion มีผู้ประกอบการร่วมออกบูธ 24 ราย และโซนที่สองบ้าน innovative House มีผู้ประกอบการร่วมออกบูธ 16 ราย นอกจากนี้ยังได้นำผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาวิจัยมาร่วมทดสอบผลตอบรับจากผู้บริโภคอีก 15 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเจรจาธุรกิจกับผู้ค้าจากทั่วโลก สั่งสมประสบการณ์ และรับข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป
จากโมเดลการทำงานดังกล่าว "Innovative House" ได้ร่วมงานกับผู้ประกอบการและทีมวิจัยเป็นจำนวนมากมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเวชสำอางหลายร้อยผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าความสำเร็จเหล่านั้น คือ การเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับและเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงความรู้ด้านการตลาดไปพัฒนาองค์กร สร้างพื้นที่ให้นักวิจัยได้นำความรู้ความสามารถไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการและความต้องการของตลาด เกิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและภาคการวิจัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเวชสำอางไทยให้สามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดโลกได้