กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ความร้อนแรงของสงครามการค้าที่มีทีท่าจะลากยาวต่อเนื่องไปตลอดปี แม้จะไม่ส่งผลต่อไทยโดยตรงแต่ได้ทยอยปรากฎผลผ่านช่องทางเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนของโลก จนกระทั่งการส่งออกของไทยอ่อนแรงโดยล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกของไทยยังคงหดตัวร้อยละ 1.86 (YoY) ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดหลักของไทยต่างปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าไทยที่ส่งไปตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรป (EU) เผชิญการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามที่เข้ามาชิงพื้นที่ตลาด โดยสินค้าเวียดนามมีส่วนแบ่งการนำเข้าของ EU คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของการนำเข้าทั้งหมดของ EU ในปี 2561 (จากร้อยละ 0.3 ในปี 2552) ขณะที่สินค้าไทยมีส่วนแบ่งคงที่ที่ร้อยละ 0.5 ตลอดช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งการนำเข้าสินค้าของ EU จากเวียดนามก็เติบโตชัดเจนถึงร้อยละ 10.5 ในปี 2561ขณะที่นำเข้าจากไทยเติบโตเพียงร้อยละ 5.1 ยิ่งตอกย้ำประสิทธิภาพการทำตลาดของสินค้าไทยที่ ณ ปัจจุบันไม่มีแต้มต่อทางการค้าทั้ง GSP และ FTA ในตลาด EU
แม้ว่าสินค้าไทยยังสามารถทำตลาด EU ได้อยู่ แต่ในระยะอันใกล้ไทยอาจถูกช่วงชิงพื้นที่ตลาดมากขึ้นอีกหาก FTA ระหว่าง EU กับหลายประเทศในอาเซียนสามารถเปิดเสรีได้สำเร็จ โดยเฉพาะ FTA เวียดนามกับ EU ที่เหลือแค่รอบบทสรุปด้านการลงทุนและน่าจะเปิดเสรีได้ในเร็วๆ นี้ ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้แก่สินค้าไทยในตลาด EU นอกจากนี้ หาก FTA มาเลเซียกับ EU สามารถเจรจาจนสามารถเปิดเสรีได้สำเร็จก็อาจยิ่งทำให้ผู้ประกอบการใน EU เบนความสนใจไปยังสินค้ามาเลเซียที่มีความคล้ายคลึงกับไทย มีความเสี่ยงทำให้ไทยสูญเสียตลาดไปมากขึ้นอีก ดังนั้น การเร่งรัดจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับ EU ไม่เพียงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดใน EU ไว้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ FTA ฉบับนี้จะเป็นแม่เหล็กที่ช่วยเหนี่ยวรั้งนักลงทุนรายเดิมรวมทั้งยังถึงดูดเม็ดเงินลงทุนรายใหม่ให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกเพื่อจับตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอย่าง EU ได้อีกทางหนึ่ง
FTA ไทยกับ EU จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ สร้างแต้มต่อให้สินค้าไทยในระยะยาว
ท่ามกลางภาพเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เรียกได้ว่าเปราะบางอย่างมาก การขับเคลื่อนการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับ EU ให้เปิดเสรีได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นโจทย์เร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเร่งรัดแผนงานให้เกิดขึ้น เนื่องด้วยการเจรจา FTA กับ EU เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา เพราะเป็นความตกลงที่มีขอบข่ายการเจรจาด้วยมาตรฐานสูง (High-standard trade agreement) มีหลายประเด็นที่ซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องนอกเหนือจากการเปิดเสรีด้านสินค้า ซึ่งจังหวะเวลาในการเปิดเสรี FTA ไทยกับ EU อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อภาคการผลิตและส่งออกของไทยในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ใจความสำคัญของการเจรจา FTA ไทยกับ EU คือ กรอบเวลาที่ชัดเจนในการเปิดเสรี และถ้าสามารถเปิดเสรีได้ในเวลาไล่เลี่ยกับประเทศเพื่อนบ้านจะยิ่งส่งผลดีต่อไทยในระยะยาว ทั้งทำให้สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดได้มากกว่าเดิมจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ลดลงจากปัจจุบันมีอัตราภาษี MFN เฉลี่ยที่ร้อยละ 5.1 และสร้างแรงดึงดูดด้านการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติเลือกใช้ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีโอกาสต่อยอดการลงทุนในสินค้าอื่นให้สอดคล้องกับกำลังซื้อใน EU ในอนาคตได้อีกทาง ดังนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า FTA ไทยกับ EU ช่วยลดภาระทางภาษีนำเข้าให้แก่ธุรกิจไทยเพื่อเข้าสู่ตลาด EU ได้ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 4.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยไป EU ในปี 2561 อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าไทยโดดเด่นยิ่งขึ้นอีก
สินค้าไทยกลุ่ม Product Champions กับกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในไทยยิ่งมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และช่วยเสริมบทบาทการผลิตไทยให้เด่นขึ้นอีกขั้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า HDDs เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์ ยานยนต์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์ เนื้อหมู ข้าว ยางธรรมชาติและถุงมือยาง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ได้อานิสงส์จากการลดภาษีนำเข้าของ EU แม้ในปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้ของไทยจะมีความได้เปรียบในตลาด EU ค่อนข้างเด่นอยู่แล้ว หรือมีค่า RCA สูงกว่า 1 ไปมาก
สินค้าไทยกลุ่มใหม่ได้อานิสงส์เข้าสู่ตลาด EU เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อย อาทิ ปลากระป๋อง ซอสปรุงรส อาหารปรุงแต่ง และกล่องพลาสติก ซึ่งปัจจุบันยังต้องแข่งขันสูงกับสินค้าจากเพื่อนบ้านพอสมควร (RCA อยู่ในระดับต่ำ) และต้องเผชิญอัตราภาษีนำเข้า MFN สูงกว่าค่าเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า FTA ไทยกับ EU เป็นกุญแจกำหนดเส้นทางการลงทุนและการผลิตในไทย โดย FTA ฉบับนี้จะช่วยปลดล็อคปัญหาการผลิตที่ชะงักงันและเปิดประตูการลงทุนให้ไทยก้าวไปสู่การผลิตสินค้าไฮเทคในขั้นสูงขึ้นได้ตามที่คาดหวัง จากแรงขับเคลื่อนระรอกใหม่ของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพราะถ้าอาศัยเพียงกำลังการพัฒนาการผลิตของนักลงทุนในประเทศก็นับเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องใช้เวลาด้วยข้อจำกัดที่ว่า 1) เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจำเป็นต้องอาศัยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเจ้าของซึ่งมาพร้อมกับ FDI และ 2) สินค้าเทคโนโลยีหรือสินค้าไฮเทคเมื่อผลิตออกมาแล้วจำเป็นต้องมีตลาดที่มีกำลังซื้อสูงรองรับอย่างตลาด EU โดยการเข้ามาของ FDI ระรอกใหม่เอื้อประโยชน์ ดังนี้
ระยะสั้น: ไทยจะยังรักษาบทบาทการลงทุนสินค้ากลุ่มเดิมไว้ได้ แม้ในระยะข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการผลิต นักลงทุนต่างชาติก็น่าจะพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อยอดจากการลงทุนเดิมโดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ อันจะยิ่งทำให้เครือข่ายการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจดังกล่าวในไทยค่อยๆ ต่อขยายออกไป จนผนึกแน่นกลายเป็นรากฐานสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้มากขึ้น โดยแบ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพส่งออกไปทำตลาด EU อยู่แล้ว (RCA ในระดับที่สูง) โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 1 ใน 3 ของการส่งออกจากไทยไป EU อาทิ HDDs แผงวงจรไฟฟ้า และอุปกรณ์การแพทย์ ตัวอย่างเช่น HDDs ที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในเอเชียมีค่า RCA อยู่ที่ 3.93 ในปี 2561เหนือกว่าประเทศคู่แข่งในอาเซียน เมื่อเทียบกับมาเลเซียและเวียดนามมีค่าดัชนี RCA อยู่ที่ 2.38 และ 1.92 ตามลำดับ และการลงทุนในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาสแข็งแกร่งขึ้นอีกหากมี FTA (RCA ค่อนข้างต่ำ) อาทิ เครื่องปรับอากาศ เส้นใยนำแสง ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องสูบอากาศ กล้องถ่ายภาพ ตัวควบคุมกระแสไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องบิน และเครื่องยนต์สันดาป
ระยะต่อไป: ไทยมีโอกาสขยับไปเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเทคโนโลยีแห่งอนาคต หลังจากที่ไทยมีรากฐานการผลิตสินค้าหลายชนิดทยอยเข้ามาพัฒนาห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนด้วยเทคโนโลยีใหม่ในกลุ่ม ICs เครื่องพิมพ์ ส่วนประกอบเครื่องคำนวน ส่วนประกอบแผงวงจรไฟฟ้าประเภทต่างๆ ไดโอท/เซมิคอนดักเตอร์ ส่วนประกอบอากาศยาน และอุปกรณ์โทรศัพท์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นหัวใจในการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีการผลิตแห่งอนาคต แต่ไทยผลิตและส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปทำตลาดใน EU ได้ค่อนข้างจำกัด ต้องเผชิญความท้าทายในการทำตลาดอย่างมากด้วยอัตราภาษีนำเข้า MFN ของ EU ในระดับที่สูง ประกอบกับสถานะปัจจุบันของสินค้าไทยเหล่านี้ก็ความสามารถในการแข่งขันในตลาด EU ด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว (RCA ต่ำกว่าคู่แข่งในอาเซียน) อีกทั้งมีสัญญาณว่าสินค้าไทยเริ่มสูญเสียตลาด EU ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นอีกในระยะอันใกล้ และถ้าหาก FTA ไทยกับ EU ไม่สามารถเริ่มใช้ได้ทันท่วงทีก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่นักลงทุนจะหันไปลงทุนโดยการยกระดับเทคโนโลยีในประเทศที่มีรากฐานการผลิตที่มีสินค้าหลายชนิดซ้อนทับกับไทยและมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่าไทย (RCA สูงกว่าไทย) พร้อมทั้งมีตัวช่วยลดภาษีนำเข้าอย่าง FTA ที่น่าจะเปิดเสรีได้อย่างเวียดนามและมาเลเซีย
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หาก FTA ระหว่างไทยกับ EU สามารถเร่งรัดให้เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป ไม่เพียงทำให้ไทยส่งออกสินค้าได้มากขึ้นเท่านั้น แต่เป็นกุญแจสำคัญอันหนึ่งที่จะกำหนดเส้นทางการลงทุนและการผลิตของไทย รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ไทยสามารถขยายกำลังการผลิตและส่งออกสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มสินค้าไฮเทคที่สอดคล้องกับความต้องการของ EU ในระยะต่อไป ได้แก่ ชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ พลาสติกที่ใช้ในวงการอาหาร แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์และอากาศยาน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จักรกลอัจฉริยะ (AI) การผลิตที่ใช้พื้นฐานจากการผลิตยานยนต์ การพัฒนาไบโอพลาสติก รวมทั้งการผลิตอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตอบโจทย์ชีวิตสะดวกสบายในอนาคต อย่างไรก็ดี ถ้าทางการไทยไม่สามารถเร่งรัดผลักดันให้เกิด FTA ขึ้นมาได้ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน ไม่เพียงไทยอาจจะสูญเวลาและเสียโอกาสการพัฒนาการผลิตในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต ไทยยังอาจจะสูญเสียเม็ดเงินลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีปัจจุบันไปให้แหล่งผลิตอื่นในอาเซียน และสูญเสียบทบาทการเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกของอาเซียนไป