กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ "รวมใจภักดิ์ พัฒนารักษาสิ่งแวดล้อม น้อมนำพระราชปณิธานความดี" เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยร่วมกัน "สืบสาน รักษาและต่อยอด" นำแนวพระราชดำริ สร้างประโยชน์แก่ประชาชน ณ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการสหกรณ์รวมใจภักดิ์ พัฒนาสิ่งแวดล้อม น้อมนำพระราชปณิธานความดี เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้แทนสหกรณ์ในจังหวัดเพชรบุรี บุคลากรของส่วนราชการต่างๆ ประชาชนทั่วไป สมาชิกและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพงและบุคลากรของ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า600 คน เพื่อแสดงพลังแห่งความจงรักภักดีและร่วมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการสหกรณ์รวมใจภักดิ์ พัฒนาสิ่งแวดล้อม น้อมนำพระราชปณิธานความดี เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดนิทรรศการและซุ้มเฉลิมพระเกียรติ นำเสนอพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวกับงานสหกรณ์ ภายใต้หัวข้อ "ต่อยอด สืบสาน ปณิธานพ่อ สหกรณ์สานต่อ สู่ความยั่งยืน" และจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง พื้นที่ 1-2-0 ไร่ พร้อมทั้งดูแลรักษาต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 รวมถึงกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ร่วมกันเก็บขยะบริเวณถนนในพื้นที่โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาพลับพลาที่ประทับ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยเสด็จฯ มาประทับและทรงงาน เมื่อปี พ.ศ. 2507
นอกจากนี้ยังได้ซ่อมแซมบ้านหลังแรก ซึ่งเป็นการจำลองบ้านของเกษตรกรกลุ่มแรกที่อพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ของโครงการไทย-อิสเราเอล เพื่อพัฒนาชนบทหุบกะพง ซึ่งทุกกิจกรรมจะช่วยปลูกฝังให้บุคลากรสหกรณ์และเยาวชนสหกรณ์ รุ่นใหม่ได้น้อมนำแนวคิดจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมมาขยายต่อยอดการทำความดีและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้แก่สังคม ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้านนางสาวอัญชนา แก้วชื่น ผู้อำนวยการศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง กล่าวถึงความสำคัญของโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง ว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2507 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎร จนได้ทรงทราบถึงเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและขาดแคลนทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพ จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดหาพื้นที่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้เกษตรกรดังกล่าว
ในเวลาต่อมาได้มีการเลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ แต่สภาพที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินเลวขาดแคลนน้ำ จึงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ และพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ เมื่อได้พัฒนาที่ดินให้ดีขึ้นแล้วจึงจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนที่ดินทำกินได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ขณะเดียวกันนั้น รัฐบาลอิสราเอล โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยได้อาสาเข้ามาช่วยเหลือด้านการพัฒนาการเกษตรในรูปของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ และได้เกิดการทำสัญญาร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2509 ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ภายใต้ " โครงการไทย -อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท(หุบกะพง)"
จากโครงการความร่วมมือฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตร พร้อมทั้งอพยพเกษตรกรจากกลุ่มเกษตรกรสวนผักชะอำ 2 ครอบครัว เข้าไปอยู่อาศัยโดยจัดที่ดินให้ครอบครัวละ 25 ไร่ จัดให้ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน 7 ไร่ อีก 18 ไร่ ให้ปลูกพืชไร่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้วางแผนการปลูก การแนะนำให้เกษตรกรรู้จักการปลูกพืชตามหลักวิชาการ จากนั้นจึงอพยพครอบครัวของเกษตรที่เหลือเข้ามาอยู่ในบ้านเกษตรกรเข้ามาเพิ่มเติม พร้อมทั้งมีการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักการและวิธีการของสหกรณ์ จนเห็นว่าสมาชิกของหมู่บ้าน เกษตรกรมีความเข้าใจได้ดีพอแล้ว จึงเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตรโดยใช้ชื่อว่า "สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด" ยึดหลักและวิธีการสหกรณ์สำหรับแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสมาชิก จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง ซึ่งมีพระนามาภิไธยของพระองค์ จำนวน 3 ฉบับ รวมพื้นที่ 12,079 – 1 – 82 ไร่ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ
สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 มีสมาชิก 128 ครอบครัว ทุนดำเนินการตั้งต้น 253,677.50 บาท ขณะที่ในปัจจุบันมีสมาชิกรวม 618 คน และมีทุนดำเนินการเพื่อดำเนินธุรกิจตอบสนองต่อสมาชิกอย่างครบวงจร จำนวน 38,890,059.32 บาท ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีโครงการต่างสนับสนุนอาชีพให้กับสมาชิก อาทิ โครงการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ พืชผักปลอดภัย ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงแพะ เลี้ยงปลา และงานหัตถกรรมจักสานป่านศรนารายณ์ พร้อมทั้งจัดหาตลาดในการจำหน่ายสินค้าและผลผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่หุบกะพงด้วย
ปัจจุบันได้เปิดศูนย์เรียนรู้ด้านการปลูกพืชและสัตว์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่แห้งแล้ง อีกทั้งเป็นแหล่งให้การศึกษา ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ด้านต่าง ๆ แก่เกษตรกร รวมถึงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่มสู่การพัฒนาสหกรณ์อย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริฯ อันเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ซึ่งในปี 2561 ได้มีผู้เข้าศึกษาดูงานกว่า 50,000 คน ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยสมาชิกสหกรณ์และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จะร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของ "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" ให้ดำรงอยู่ต่อไปในแผ่นดินของพระราชานามว่า "หุบกะพง" สืบไป