กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการย่อย ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 (ตุลาคม 2561 - มีนาคม 2562) โดยศูนย์ประเมินผล สศก. ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2562 เพื่อติดตามโครงการย่อย 3 โครงการ ดังนี้
1) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ : พันธุ์ กข 43 ปี 2562 จังหวัดสุพรรณบุรี ในช่วงฤดู การผลิตที่ผ่านมา (นาปรัง 2562) เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 617 ราย พื้นที่ 12,190 ไร่ ผลผลิต 600 – 800 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรขายได้ราคาดี เฉลี่ยตันละ 10,000 - 12,000 บาท เนื่องจากหลายหน่วยงานในจังหวัดทั้งสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ได้ประสานความร่วมมือภาคเอกชนรับซื้อผลผลิตข้าวในโครงการที่ผ่านการตรวจรับรองและได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) สำหรับในฤดูการผลิตข้าวนาปี 2562/63 ซึ่งเริ่มขึ้นแล้วในเดือนพฤษภาคม อยู่ระหว่างรับสมัครเกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูกข้าวตามโครงการ โดยคาดว่า เกษตรกรจะร่วมโครงการมากกว่าเป้าหมายที่จังหวัดกำหนดไว้ 2,000 ราย เนื่องจากเกษตรกรให้ความสนใจปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะดำเนินการในรูปแบบกลุ่มนาแปลงใหญ่ ใช้เมล็ดพันธุ์จากกลุ่มในลักษณะการยืมและคืนเมื่อได้ผลผลิต ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ดังนั้น จึงควรวางแผนการตลาดอย่างรอบด้านเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา อีกทั้งข้าวพันธุ์ กข 43 ไม่ควรมีปริมาณตกค้างไปในปีถัดไป เพื่อให้คงคุณภาพ มาตรฐานและความนุ่มเทียบเท่าข้าวหอมมะลิ
2) โครงการบริหารจัดการนาโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรกรรมแม่นยำสูง จังหวัดสุพรรณบุรี มีเกษตรกรแปลงต้นแบบ จำนวน 3 แปลง พื้นที่ 50 ไร่ ดำเนินการลักษณะการบริหารจัดการนาโดยใช้เทคโนโลยี มีการปรับระดับพื้นที่นาให้เรียบสม่ำเสมอ ทั่วทั้งแปลงด้วยรถไถปรับระดับดิน พร้อมระบบเลเซอร์ ช่วยให้ระบบการส่งน้ำและระบายน้ำในแปลงนาทำได้สะดวก รวดเร็ว คาดการณ์ผลผลิตได้แม่นยำ สามารถลดต้นทุนการจัดการน้ำ ผลผลิตในแปลงนาเฉลี่ย 771 กิโลกรัม/ไร่ โดยภาครัฐได้สนับสนุนประสานหาแหล่งเทคโนโลยี และเกษตรกรยังได้มีการร่วมลงทุนด้วยตนเอง ในการจ้างเหมารถไถพร้อมอุปกรณ์ (ค่าใช้จ่ายไร่ละ 3,000 - 4,000 บาท) เพื่อปรับระดับพื้นที่นาในโครงการ เนื่องจากเห็นว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน
3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีเกษตรกรเข้าร่วม 762 ราย เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเกษตรกรได้รับการอบรมการปลูกข้าวหอมมะลิชั้นเลิศ ได้รับการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการ ปลูกข้าว การแนะนำใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม และได้รับการสนับสนุนพันธุ์ข้าวหอมมะลิและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และขณะนี้เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะได้รับผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 5 - 10 กิโลกรัม/ไร่ จากผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 350 กิโลกรัม/ไร่
ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมทั้ง 3 โครงการ เห็นว่าการดำเนินโครงการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรพึงพอใจในระดับมากที่สุด ซึ่งภาพรวมเกษตรกร ร้อยละ 80 สามารถลดต้นทุนการผลิตได้จริง ร้อยละ 65 มีรายได้เพิ่มขึ้น และร้อยละ 63 มีตลาดรองรับผลผลิตแน่นอน โดยเกษตรกรยังต้องการให้ดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่อง และต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งช่วยจัดหาแหล่งน้ำในการทำการเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ราคารับซื้อผลผลิตของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ยังต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามาดูแล ประสาน และพัฒนาตามแนวทางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร นอกจากนี้ เกษตรกรที่ปลูกข้าว ควรขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงข้อมูลในทุกฤดูการผลิตด้วยเช่นกัน