กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--นิด้าโพล
กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การอนุญาตให้ใช้กัญชาและกระท่อมในทางการแพทย์" โดยเริ่มทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 - 18 เมษายน 2562 จากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,058 หน่วยตัวอย่าง สอบถามการรับรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้กัญชาและกระท่อมในทางการแพทย์ โดยการสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น ด้วยวิธีแบบหลายขั้นตอน (Multistage Sampling) และเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการลงพื้นที่สัมภาษณ์แบบพบตัว โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.00
จากการสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ จากกัญชาและกระท่อมเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 82.07 ระบุว่า พอทราบ และร้อยละ 17.93 ระบุว่า ทราบดีเกี่ยวกับการอนุญาต ให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์ ใน พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ส่วนการรับรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชาสามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.56 พอทราบว่ากัญชามีประโยชน์สามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ รองลงมา ร้อยละ 27.84 ทราบดี และร้อยละ 1.60 ไม่เคยทราบเลย
สำหรับช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้กัญชาและกระท่อมทางการแพทย์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 16.87 รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย/สื่อสี่งพิมพ์/สื่อบุคคล รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 16.51 รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านช่อง 3 HD อันดับ 3 ร้อยละ 15.88 ช่อง 7 HD อันดับ 4 ร้อยละ 10.73 ช่อง NBT หรือช่อง สทท. และอันดับ 5 ร้อยละ 8.06 ช่อง 9 MCOT HDในส่วนของการรับรู้สาระสำคัญเกี่ยวกับกัญชาและกระท่อม ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 พบว่า สาระสำคัญเกี่ยวกับกัญชาและกระท่อม ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ประชาชนส่วนใหญ่ทราบสาระสำคัญจาก 4 ใน 6 เรื่อง ดังประเด็นต่อไปนี้ (1) ประเด็นกัญชาและกระท่อมยังคงถูกควบคุมเพราะเป็นยาเสพติดให้โทษ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 94.22 ทราบในประเด็นนี้ และร้อยละ 5.78
ไม่ทราบ (2) ประเด็นการผลิต นำเข้า หรือส่งออกกัญชาและกระท่อมกระทำได้เฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.83 ทราบในประเด็นนี้ และร้อยละ 18.17 ไม่ทราบ (3) ประเด็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย จัดการเรียนการสอนหรือให้บริการทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองกัญชาและกระท่อม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.95 ทราบในประเด็นนี้ และร้อยละ 36.05 ไม่ทราบ (4) ประเด็นประชาชนได้รับอนุญาตให้ครอบครองกัญชาและกระท่อม
ไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.43 ทราบในประเด็นนี้ และร้อยละ 42.57 ไม่ทราบ (5) ประเด็นเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย จัดการเรียนการสอนหรือให้บริการทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ ผลิตและพัฒนาสูตรยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.05 ไม่ทราบในประเด็นนี้ และร้อยละ 49.95 ทราบ (6) ประเด็นผู้ครอบครองกัญชาจะได้รับการละเว้นโทษ หากแจ้งและส่งมอบกัญชาให้กับกระทรวงสาธารณสุข ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 บังคับใช้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.93 ไม่ทราบในประเด็นนี้ และร้อยละ 44.07 ทราบ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำกัญชาและกระท่อมมาใช้ทางการแพทย์ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.30 เห็นด้วยเกี่ยวกับการนำกัญชาและกระท่อมมาใช้ทางการแพทย์ เพราะ มีงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชาและกระท่อมสามารถนำมาเป็นยารักษาโรคช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย เป็นอีกทางเลือกในการรักษา มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาที่เกิดจากการสังเคราะห์ หรือยาเคมี ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยบางโรค ช่วยรัฐบาลลดต้นทุนค่ายาที่นำเข้าจากต่างประเทศและค่ารักษาพยาบาล และประชาชนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้ เนื่องจากราคาไม่แพงเท่ายาจากต่างประเทศ รวมถึงต่างประเทศ เช่น ประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย อุรุกวัย และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา นำกัญชามาเป็นส่วนประกอบของยารักษาโรค กัญชาและกระท่อมเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ และร้อยละ 13.70 ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการนำกัญชาและกระท่อมมาใช้ทางการแพทย์ เพราะ กัญชาและกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ เกรงว่าจะนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ลักลอบทำเป็นยาเสพติด และอาจแพร่ระบาดเหมือนยาเสพติดชนิดอื่น ทำให้ประชาชนติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น รวมถึงยังไม่แน่ใจว่ากัญชาและกระท่อมสามารถรักษาโรคได้จริง และกลัวมีผลข้างเคียงที่เป็นโทษแก่ร่างกาย เนื่องจากเป็นยาเสพติด
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐของไทยจะสามารถควบคุมการใช้กัญชาและกระท่อมให้เป็นไปตามกฎหมาย ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.31 มีความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมการใช้กัญชาและกระท่อมให้เป็นไปตามกฎหมายได้ เพราะ กฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้กัญชาและกระท่อมในทางการแพทย์มีความชัดเจน มีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งการผลิต เพาะปลูก และการนำไปใช้ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมีบทลงโทษที่รุนแรง อีกทั้งเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมการใช้กัญชาและกระท่อม ไม่ให้นำไปใช้อย่างผิดกฎหมาย หรือผิดวัตถุประสงค์ รองลงมา ร้อยละ 35.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และร้อยละ 24.73 คิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถควบคุมการใช้กัญชาและกระท่อมให้เป็นไปตามกฎหมายได้ เพราะ กฎหมายประเทศไทยยังไม่เด็ดขาดหรือเข้มงวดพอ เปิดช่องว่างให้ผู้มีอิทธิพลหาประโยชน์ในทางมิชอบ รวมถึงไม่เชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากยาบ้า และยาเสพติดอื่น ๆ ยังระบาดในประเทศไทยอยู่ เลยไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถควบคุมการใช้กัญชาและกระท่อมได้ และบางส่วนคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีจำนวนน้อยอาจดูแลไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ รวมถึงบทลงโทษยังไม่เคร่งครัดรุนแรงพอ ทำให้มีผู้ลักลอบปลูกกัญชาและกระท่อมได้และท้ายที่สุดประชาชนมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกัญชาและกระท่อม โดยประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.79 มีข้อเสนอแนะว่า ควรอนุญาตให้ใช้กัญชาและกระท่อมได้เฉพาะสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น รองลงมา ร้อยละ 42.76 ควรสร้างความรู้/จิตสำนึกให้กับประชาชนถึงประโยชน์และโทษของกัญชาและกระท่อม ร้อยละ 42.32 ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและลงโทษขั้นรุนแรงกับผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับกัญชาและกระท่อม ร้อยละ 31.39 ควรกำหนดให้กัญชาและกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจและส่งเสริมการเพาะปลูก และร้อยละ 28.09 ควรมีการอนุญาตให้ปลูกกัญชาและกระท่อมได้อย่างเสรี
เมื่อพิจารณาลักษณะข้อมูลทั่วไปของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.83 เป็นเพศชาย และร้อยละ 49.17 เป็นเพศหญิง โดยร้อยละ 28.04 มีอายุระหว่าง 36 - 45 ปี รองลงมา ร้อยละ 26.87 มีอายุระหว่าง 26 - 35 ปี ร้อยละ 24.88 มีอายุระหว่าง 46 - 59 ปี ร้อยละ 13.02 มีอายุระหว่าง 18 - 25 ปี และร้อยละ 7.19 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยร้อยละ 30.86 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา/เทียบเท่า รองลงมา ร้อยละ 28.18 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี/เทียบเท่า ร้อยละ 20.94 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 16.28 จบการศึกษาระดับอนุปริญญา/เทียบเท่า และร้อยละ 3.74 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี/เทียบเท่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 26.09 ประกอบอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ รองลงมา ร้อยละ 20.75 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.25 ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 12.29 ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 11.76 เป็นข้าราชการ/ลูกจ้างของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.95 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณ/ว่างงาน ร้อยละ 4.08 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.83 ประกอบอาชีพประมง ส่วนใหญ่ร้อยละ 38.05 มีรายได้เฉลี่ย 10,001 - 20,000 บาท รองลงมา ร้อยละ 23.13 มีรายได้เฉลี่ย 5,001 - 10,000 บาท ร้อยละ 16.23 มีรายได้เฉลี่ย 20,001 - 30,000 บาท ร้อยละ 6.27 มีรายได้เฉลี่ย ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 5.69 มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 30,000 บาท ร้อยละ 5.59 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 5.04 ไม่ระบุรายได้