กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--เวิร์คลิ้งค์ ดาเอเจนซี่
รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยถึงผลประกอบการปี 61/62 (เม.ย.61 - มี.ค.62) บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 10,579 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 9,607 ล้านบาท จำนวน 972 ล้านบาท หรือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% และมีกำไรสุทธิ 903 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 993 ล้านบาท หรือปรับตัวลดลง 9% โดยมีสัดส่วนรายได้ แบ่งเป็น AEROKLAS 50% AEROFLEX 27% และ EPP 23% สำหรับผลประกอบการปี 61/62 เติบโตมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้
ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีรายได้จากการขายรวม 2,868 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่นซึ่งเลือกใช้สินค้าระดับพรีเมี่ยม แม้จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ยังคงเติบโตได้ดี มีรายได้จากการขายรวม 5,276 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายปรับเพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ พื้นปูกระบะ (Bed Liner) / หลังคารถกระบะ (Canopy) / บันไดข้างรถ (Side Step) และผลิตภัณฑ์ใหม่กันชนหลัง (Rear Bumper) เริ่มออกสู่ตลาดเมื่อปลายปี 61 รวมถึงการรับรู้รายได้จากธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่สำคัญของ Aeroklas ในประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทอยู่ในระหว่างการสร้างเสริม Synergy ระหว่างธุรกิจ ซึ่งจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขายรวม 2,436 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากบริษัทได้เร่งทำการตลาดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทกล่องใส่อาหาร ถ้วยน้ำดื่ม และ สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น
ด้านต้นทุนขายสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ในปีบัญชีนี้บริษัทฯ ยังคงใช้ต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาวัตถุดิบมีทิศทางลดลงในช่วงปลายปีบัญชีจึงคาดว่าจะเริ่ม ส่งผลบวกแก่บริษัทในปีบัญชีถัดไป นอกจากนี้ มีค่าใช้จ่ายจากการตั้งสำรองทางบัญชีที่เพิ่มขึ้นจากภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานจำนวนหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไข โดยอีกส่วนหนึ่งของการตั้งสำรองดังกล่าวจะถูกบันทึกลงในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ปรับตัวขึ้นส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายจากการสร้างสาขาร้านค้า/ การพัฒนาผลิตภัณฑ์/ การทำการตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและการส่งเสริมการขายและการทำการตลาดของสินค้าทุกบริษัทในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง จากปัญหาด้านราคาของวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการตั้งสำรองทางบัญชีที่เพิ่มขึ้นจากภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน และการเริ่มดำเนินงานของธุรกิจร่วมทุนใหม่ในประเทศแอฟริกาใต้ จึงส่งผลให้กำไรสุทธิในปีนี้ลดลงจากปีก่อนหน้า
รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 62 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.14 บาท (สิบสี่สตางค์) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 392 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 62 ในวันที่ 24 ก.ค. 62 และหากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล จะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date)ในวันที่ 7 ส.ค. 62 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 22 ส.ค. 62
"ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.61 บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.08 บาท แล้ว หากรวมกับการปันผลในครั้งนี้อีก 0.14 บาทต่อหุ้น จะทำให้บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลรวม 0.22 บาทต่อหุ้น" รศ.ดร.เฉลียว กล่าว