กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--บลจ.บัวหลวง
กองทุนบัวหลวง มั่นใจกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) เป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่มองหากองทุนรวมเพื่อลงทุนระยะยาว จากการเติบโตของธุรกิจดูแลสุขภาพในอนาคต ด้วยผลการดำเนินงาน 10 ปีย้อนหลังเป็นเครื่องพิสูจน์ เติบโตเฉลี่ย 14.02% ต่อปีเหนือเกณฑ์มาตรฐาน
นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ Head of Business Distribution บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเปิดบัวหลวง
โกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) กองทุนรวมที่เน้นลงทุนอุตสาหกรรมสุขภาพกองทุนแรกในไทย เมื่อ 12 ปีก่อน จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 30 เม.ย. 2562 กองทุน BCARE มีผลการดำเนินงานเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ถึง 14.01% ต่อปี สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานดัชนี MSCI World Health Care Index Net ที่ใช้วัดผลการดำเนินงานกองทุนหลัก ที่ 12.53% ต่อปี จากกระแสความต้องการชีวิตความเป็นอยู่ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งในอนาคต กองทุนบัวหลวงจึงมองว่า กองทุน BCARE ยังคงน่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนในระยะยาว
"อุตสาหกรรมสุขภาพ เหมาะกับผู้ลงทุนที่มองหากองทุนรวมเพื่อลงทุนในระยะยาว เพราะการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่แนวโน้มที่เกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ว่ามีโอกาสขยายตัวได้อีกไกล จากการที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ไม่ว่าจะเป็น ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือไทย เป็นต้น ขณะที่เทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ ช่วยให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ขณะเดียวกัน คนทั่วโลกก็มีความตื่นตัวและพร้อมใช้จ่ายในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น กองทุนบัวหลวงเล็งเห็นแนวโน้มนี้มาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ทั้งยังคงเชื่อมั่นไปกับแนวโน้มนี้ต่อไปในอนาคตข้างหน้า" นายวศิน กล่าว
กองทุนบัวหลวงจัดตั้งกองทุน BCARE เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2550 หลังจากนั้น จัดตั้งกองทุนเปิดบัวหลวง โกลบอลเฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (BCARERMF) วันที่ 19 พ.ค. 2558 สำหรับ BCARE เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของ Wellington Global Health Care Equity Fund (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียว เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) กองทุนหลักบริหารจัดการโดย Wellington Management Company LLP มีนโยบายลงทุนตราสารทุนของบริษัทในอุตสาหกรรมสุขภาพทั่วโลก
ข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประกอบด้วยประเทศสมาชิก รวม 36 ประเทศ พบว่า สัดส่วนการใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ระหว่างปี 2543 จนถึงปี 2560 เพิ่มขึ้น 25% อีกทั้งแนวโน้มการใช้จ่ายนี้น่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมสุขภาพเป็นเมกะเทรนด์ของโลก
ในช่วงเดือน เม.ย.2562 ที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ เผชิญแรงกดดันจากข้อเสนอ Medicare-for-all ของพรรคเดโมแครต แต่เชื่อว่า โอกาสที่ Medicare-for-all จะผ่านนั้นมีความเป็นไปได้น้อย จากปัจจัยด้านต้นทุน เงื่อนไข และแรงต่อต้านของชาวอเมริกัน ราคาหุ้นกลุ่มนี้จะทวีความผันผวนสูงขึ้นในระยะเวลา 12-24 เดือนข้างหน้า จนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า
นักลงทุนที่เล็งเห็นโอกาส หรือชื่นชอบหุ้นในกลุ่มเมกะเทรนด์นี้ ควรใช้ห้วงเวลานี้ในการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (Dollar Cost Averaging) เพราะเชื่อว่า แนวโน้มในระยะยาว กลุ่มเฮลธ์แคร์ยังไปต่อได้อีก จากนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประชากรสูงวัยสหรัฐฯ อุปสงค์ของตลาดโลกต่อตัวยาและการรักษาตามแนวทางของชาติตะวันตก
นอกจากนี้ บริษัทที่กองทุนหลักของกองทุน BCARE เข้าไปลงทุน ให้น้ำหนักกับบริษัทชีวเภสัชกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์มากเป็นพิเศษ เนื่องจากบริษัทในกลุ่มนี้ถือครองสิทธิบัตรงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการบำบัดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ เบาหวาน และเอดส์ เป็นต้น รวมถึงถือครองเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมยีนมนุษย์ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์นำมาวิเคราะห์แนวทางด้านการรักษาโรค
นายวศิน กล่าวว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ และลงทุนเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมจัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง ธุรกิจสุขภาพจัดเป็นธุรกิจเพื่ออนาคตและกระจายการดำเนินธุรกิจไปทั่วโลก ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงอีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับกองทุนหลักที่ BCARE ไปลงทุน สามารถกระจายความเสี่ยงได้ดี เพราะลงทุนในหุ้น มากกว่า 100 บริษัท แม้จะมีประเด็นด้านความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องคำนึงถึง แต่หากนักลงทุนเข้าใจก็จะจัดสรรเงินเข้าไปลงทุนได้
ส่วนผู้ที่ลงทุนอยู่แล้ว อีกทั้งเชื่อว่า แนวโน้มธุรกิจดูแลสุขภาพยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องในระยะยาว แม้ระหว่างทางเผชิญความผันผวนบ้าง ก็สามารถลงทุนตลอดทุกช่วงวัฎจักรเศรษฐกิจ (STAYING INVESTED THROUGH ALL MARKET CYCLES) ไปกับกองทุน BCARE ได้เช่นกัน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน