กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี และ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย และหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ ลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงผนึกความร่วมมือ "การพัฒนาพลเมืองด้านการเข้าใจดิจิทัล ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจดิจิทัล" ร่วมกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนากำลังคนให้เข้าพร้อมสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสนับสนุนการส่งเสริมด้านความเข้าใจ เพิ่มขีดความสามารถแก่ประชาชนให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งวิจัยพัฒนาสู่มาตรฐานสากลต่อไป ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ดร. ปิยนุช วุฒิสอน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า สดช. ดำเนินงานด้าน Digital Literacy หรือการเข้าใจดิจิทัลที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาสังคมดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ที่ 3 ของนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อการพัฒนา "พลเมืองดิจิทัล" อย่างสมบูรณ์ และรวมถึงการร่วมลงนามใน MOU ครั้งนี้ กับอีก 6 หน่วยงาน เพื่อส่งเสริม พัฒนา ร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เกิดพลเมืองดิจิทัลในประเทศไทย และมีมาตรฐานในระดับประเทศและระดับสากล
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถิติล่าสุด เดือนมกราคม 2562 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 4,388 ล้านคน คิดเป็น 57% ของประชากรโลกทั้งหมด โดยในประเทศไทยผู้ใช้อินเทอร์เน็ต มีจำนวน 57 ล้านราย คิดเป็น 82% ของประชากรไทยทั้งหมด โดยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ จำนวน 55 ล้านราย คิดเป็น 79% ของประชากรไทยทั้งหมด เฉลี่ยใช้เครือข่ายออนไลน์วันละ 9 ชั่วโมง 11 นาที นับว่าพฤติกรรมการเล่นอินเทอร์เน็ตของคนไทยค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยเข้าถึง เข้าใจ ใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ และตระหนักถึง 9 องค์ประกอบความเข้าใจของดิจิทัล ได้แก่ 1. สิทธิความรับผิดชอบ 2. การเข้าถึงสื่อดิจิทัล 3. การสื่อสารยุคดิจิทัล 4. ความปลอดภัยยุคดิจิทัล 5. ความเข้าใจสื่อดิจิทัล 6. มารยาทในสังคมดิจิทัล 7. สุขภาพดียุคดิจิทัล 8. ดิจิทัลคอมเมิร์ซ และ 9. กฎหมายดิจิทัล
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ สดช. และ 6 หน่วยงาน "การพัฒนาพลเมืองด้านการเข้าใจดิจิทัล ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจดิจิทัล" คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะดำเนินภารกิจดังนี้ 1. สนับสนุนและให้คำปรึกษาด้านการ "พัฒนาพลเมืองดิจิทัล" ในด้านความเข้าใจดิจิทัลสำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัยในด้านการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้หลักสูตรการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) และการผนวกการเรียนรู้ในระบบการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ 2. สนับสนุนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถด้านการเข้าใจดิจิทัล ในบทบาทวิทยากรผู้ให้ความรู้ และควบคุมกระบวนการจัดเก็บข้อมูลสมรรถนะทางด้านดิจิทัล 3. สนับสนุนการจัดทำสื่อประกอบการเรียนรู้หลักสูตรการเข้าใจดิจิทัล ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ หนังสือ เอกสารประกอบการนำเสนอ อินโฟกราฟิก และวีดิทัศน์ เป็นต้น 4. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความรู้ความเข้าใจในสมรรถนะทางด้านดิจิทัลที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย การเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skill) และการพัฒนาทักษะด้านความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทางด้านดิจิทัล (Digital Competence) สำหรับพลเมืองไทยให้ได้รับมาตรฐานในระดับประเทศและระดับสากลต่อไป
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย และหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบัน ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นความสำคัญของบทบาทดิจิทัลเทคโนโลยี และสารสนเทศ และการผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ และหลักสูตรปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และประเทศไทย 4.0 ในด้านของ สมาคมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ สดช. และ 6 หน่วยงาน ในความร่วมมือเพื่อ "การพัฒนาพลเมืองด้านการเข้าใจดิจิทัล ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจดิจิทัล" จะดำเนินภารกิจ โดยสนับสนุนการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวัดสมรรถนะทางด้านดิจิทัลทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและผลักดันหลักสูตร Digital Literacy อย่างต่อเนื่อง รวมถึง สนับสนุนการจัดเก็บข้อมูล เพื่อการทำวิจัยร่วมกันในด้านการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจดิจิทัลของคนไทย และพัฒนาทักษะด้านความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรในองค์กรและถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมาย