กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--ทีเอ็มบี
ทีเอ็มบี คิดต่างและทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีสุขภาพธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น จึงได้จัดงาน TMB Healthy SME Day เพื่อให้เหล่าเอสเอ็มอีมาเช็คสุขภาพธุรกิจ พร้อมเสริมวิตามินความรู้และโซลูชันทางการเงิน จากผู้เชี่ยวชาญและเอสเอ็มอีซึ่งเปี่ยมประสบการณ์ที่มุ่งมั่นจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้เพื่อนเอสเอ็มอีทำธุรกิจได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร
โลกทุกวันนี้เปลี่ยนเร็วและแรง ความท้าทายที่เอสเอ็มอีกำลังเผชิญอยู่ คือ ความผันผวนของตลาดรวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังไม่ทราบว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปจะเป็นโอกาส หรือความเสี่ยงต่อธุรกิจ สิ่งที่ทำได้คือ เอสเอ็มอีต้องมีสุขภาพธุรกิจที่แข็งแรงเพื่อที่จะสามารถรับมือกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้าใส่ และคว้าโอกาสที่จะเติบโตได้ในจังหวะที่ต้องการ เพราะ 42% ของ GDP ประเทศไทยมาจากเอสเอ็มอีที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในประเทศถึง 82% แต่จากสถานการณ์ล่าสุดพบว่า แม้จะมีธุรกิจเกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี แต่มีเพียง 50% เท่านั้นที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้ เมื่อเข้าสู่ปีที่สองก็จะมีธุรกิจอีก 10% ที่ต้องปิดตัวลง แม้เอสเอ็มอีจะขยันและลงมือทำมากกว่าแล้วก็ตาม
นายพร้อมพงษ์ พัฒนธีระเดช หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารผลิตภัณฑ์และพอร์ตโฟลิโอ ธุรกิจเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า วันนี้ความท้าทายอยู่ที่โลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หลายธุรกิจถูก Disrupt อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ รวมไปถึงเอสเอ็มอี และหากมองในเชิงบวกแล้ว โลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถเป็น "โอกาส" ของเอสเอ็มอีได้
"ทุกครั้งที่มีวิกฤต นั่นคือโอกาสของเอสเอ็มอี แม้เอสเอ็มอีจะเล็กแต่เร็วและมีความเข้าใจว่าเวลานี้ลูกค้าต้องการอะไร และพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว ยิ่งวันนี้ดิจิทัลเทคโนโลยีสร้างโอกาสมหาศาลให้กับเอสเอ็มอี เช่น ร้านใดที่มีอาหารขึ้นชื่อก็สามารถเดลิเวอรี่ให้กับลูกค้าถึงบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนคอลเซ็นเตอร์หรือมีฟีดมอเตอร์ไซค์รับ-ส่งด้วยตนเอง แต่เอสเอ็มอียังคงมีปัญหาและข้อจำกัดหลายๆ ประการที่ไม่สามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างที่ใจคิด นี่คือโจทย์ของทีเอ็มบีที่จะต้องคิดและทำเพื่อเอสเอ็มอีไทย"
ด้าน นายสุรเวช เตลาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเบิลเรสเตอท์รองต์ จำกัด ร้านอาหาร Mo-Mo-Paradise ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจชาบูสุกี้สไตล์ญี่ปุ่น ตลอดระยะเวลา 11 ปี ของการทำธุรกิจว่า ปัจจุบัน Big data และช่องทางออนไลน์ เปลี่ยนแปลงโลกของการทำธุรกิจอย่างมาก เอสเอ็มอียุคนี้ต้องปรับตัวให้เร็วเพียงพอและใช้ออนไลน์มาร์เก็ตติ้งในการเข้าถึงลูกค้าอย่างตรงกลุ่ม ซึ่งจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจส่งผลให้ยอดขายเติบโตปีละกว่า 10% นอกจากการเสียภาษีถูกต้องตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญ คือ ต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก แต่เมื่อเข้าอบรม LEAN Supply Chain by TMB ก็ได้วิธีคิดใหม่และเครื่องมือสำหรับนำไปจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
"หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมองธนาคารเป็นเพื่อน คุณจะรู้อะไรมากกว่าที่เคยรู้และไม่พลาดหรือเสียโอกาสทางธุรกิจ อย่างแนวคิด Lean ทำให้เรียนรู้ว่าการลดต้นทุนไม่ใช่การลดคุณภาพ แต่เป็นการจัดการต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและทำให้เราสามารถแข่งขันได้ ทุกวันนี้ร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย ผมมองว่าใครทำราคาได้ดีที่สุดและเกิดกำไรมากที่สุด คือ ผู้ชนะ"
อีกเรื่องที่เอสเอ็มอีให้ความสนใจไม่น้อยคือ ภาษี นายถนอม เกตุเอม "บักหนอม" แห่งบล็อกภาษีข้างถนน แฟนเพจ@TAXBugnoms เปรียบพิษร้ายของการเสียภาษีไม่ถูกต้องว่าเหมือนกับการที่คนเราเป็น "มะเร็ง" เราจะไม่รู้ตัวจนกว่าจะเป็นขั้นร้ายแรงแล้ว หลักการเดียวกัน โทษของภาษีจะมาเยี่ยมเอสเอ็มอีเมื่อทำผิดขั้นขีดสุด ซึ่งจะทำให้ธุรกิจตกอยู่ในความเสี่ยง ยิ่งปัจจุบันยุทธศาสตร์ National e-Payment มีผลต่อการปรับปรุงระบบภาษีให้เป็นดิจิทัล โดยธนาคารมีหน้าที่ส่งสรุปข้อมูลการเงินของลูกค้าให้กรมสรรพากรตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์และประเมินสถานะผู้เสียภาษีต่อไปว่าจัดอยู่ในกลุ่มดีหรือกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เอสเอ็มอีจะต้องรับผิดชอบ จัดการภาษีให้ถูกต้อง ถูกกฏหมายตั้งแต่วันนี้
"ผมแนะนำให้เอสเอ็มอีกลับไปตรวจสอบบัญชี หรืองบการเงินว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ต้องกล้ารื้อ กล้าล้าง ทำทุกอย่างให้โปร่งใส ใครทำผิด อยากแก้ไข ให้ยื่นภาษีเพิ่มเติมได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือค่าปรับ ประโยชน์อีกอย่างของการเปิดเผยข้อมูลจริง และทำบัญชีเดียว คือ สามารถนำงบการเงินที่ยื่นกับสรรพากรไปยื่นขอสินเชื่อกับทางธนาคารได้ด้วย และนอกจากนั้นเมื่อเอสเอ็มอีทำบัญชีถูกต้องจะทำให้เรารับรู้และเข้าใจถึงต้นทุน และกำไรอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นผลดีทำให้เราสามารถเห็นสุขภาพการเงินของธุรกิจได้อย่างชัดเจน ช่วยให้เราวางแผนหรือบริหารงานต่างๆ ได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น"
"มีคำกล่าวว่า Data is Money การจะเป็นเอสเอ็มอีที่มีสุขภาพที่ดีได้ ต้องกล้าที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้อง ต้องเปลี่ยนความยุ่งเป็นข้อมูลที่ไปต่อยอดธุรกิจได้ ทีเอ็มบีมีความต้องการให้เอสเอ็มอีเติบโตไปได้เร็วและไกลกว่า (Get MORE with TMB) เป็นเพื่อนร่วมทาง พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง" นายพร้อมพงษ์ กล่าวสรุป