กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
อพวช.จับมือสตาร์ทอัพไทยทำโครงการ "การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในด้านอัจฉริยะสมองกล"เพิ่มโอกาสให้เด็กไทยได้ลงมือฝึกหัดใช้ความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาทักษะผ่านชุดอุปกรณ์การเรียนรู้ เช่น ชุดหุ่นยนต์ ชุดฝึกหัดการเขียนโปรแกรม (Coding) ผ่านกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์และคาราวานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ เผยเป็นโมเดลและมิติใหม่ในการทำงานโดยมีหัวใจสำคัญคือเด็ก เพื่อสร้างให้พวกเขากลายเป็นนวัตกรให้กับประเทศ
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ อพวช. ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท อิมเมจิเนียริ่ง เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการการสร้างสื่อและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ โดยความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำโครงการ "การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในด้านอัจฉริยะสมองกล" ผ่านการดำเนินงานด้านการผลิตและเผยแพร่สื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยได้ลงมือฝึกหัดใช้ความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาทักษะผ่านชุดอุปกรณ์การเรียนรู้ เช่น ชุดหุ่นยนต์ ชุดฝึกหัดการเขียนโปรแกรม (Coding) ในกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์ของ อพวช. รวมถึงกิจกรรมในคาราวานวิทยาศาสตร์ของ อพวช. ที่ออกตระเวนไปจัดแสดงตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยความร่วมมือครั้งนี้จะมีระยะเวลาดำเนินงานภายใน 3 ปี คือตั้งแต่กลางปี 2562 – 2565
ผอ.อพวช.กล่าวต่อว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นมิติใหม่ในการทำงานของ อพวช.ที่จะร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพในการสร้างสื่อและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีหัวใจสำคัญคือเด็ก เพื่อสร้างให้พวกเขากลายเป็นนวัตกรให้กับประเทศในอนาคต ทีสำคัญ ถือเป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ของสตาร์ทอัพและเป็นโมเดลใหม่ของความร่วมมือในการทำงานของ อพวช. กับภาคเอกชนในอีกมิติหนึ่ง เนื่องจากบริษัทสตาร์ทอัพ โดยส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจในประเภทอื่นๆ แต่มีน้อยรายที่จะมาทำในเรื่องของการศึกษาเรียนรู้ให้กับเด็ก แต่สตาร์ทอัพรายนี้เห็นโอกาสที่จะมาร่วมทำงานกับ อพวช. เพราะเล็งเห็นว่า อพวช. เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ผ่านแหล่งเรียนรู้ คือ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ คาราวานวิทยาศาสตร์ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งล้วนประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด
ผศ.ดร.รวิน กล่าวอีกว่า อพวช. กำลังก้าวไปข้างหน้าและพร้อมเปิดกว้างให้กับสตาร์ทอัพทุกรายเข้ามาเสนอไอเดียที่จะมาร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมของเล่นวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนของเล่นที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อยู่มาก และตนมองว่าเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพไทยที่จะโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้
ด้านนางสาวสุมิตรา นิ่มกรชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท อิมเมจิเนียริ่ง เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีอย่างยิ่งที่เป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่ได้เข้ามาร่วมงานกับ อพวช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้ตามอัธยาศัยหรือนอกห้องเรียนมากว่า 20 ปี โดยนอกจากบริษัทจะสนับสนุนการผลิตสื่อการเรียนรู้แล้ว เรายังพร้อมร่วมกับ อพวช. พัฒนาหลักสูตรที่เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ต่าง ๆ ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ อย่างล่าสุดก็จะมีการจัดการแข่งขัน MakeX Thailand 2019 ซึ่งเป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์หรืออัจฉริยะสมองกล ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยในด้านความคิดสร้างสรรค์และคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การคิดแก้ปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศต่อไป