กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 28
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 28 แนะการสร้าง "วัฒนธรรมแห่งการรักษากติกา" เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมทั่วโลก ต้องเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกที่ดีด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีให้คนในชุมชน ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อวันก่อน
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดเผยในระหว่าง การประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติ ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 28 ในเรื่องของ วัฒนธรรมแห่งการรักษากติกา (Culture of Lawfulness) เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม โดยกล่าวว่า แนวทางในการสร้าง วัฒนธรรมแห่งการรักษากติกา (Culture of Lawfulness) เพื่อให้ประชาชนเคารพต่อกฎและระเบียบของชุมชนนั้น ควรเริ่มมาจากการปลูกจิตสำนึกที่ดีก่อน โดยกระบวนการที่จะปลูกจิตสำนึกที่ดีนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งในส่วนของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทั้ง โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย และโครงการต่างๆ ภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ ทั้งในและต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับกระบวนการในการทำความเข้าใจกับชุมชน การรับฟังปัญหา การให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา จากนั้นจึงใช้กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ปรับนิสัยหรือพฤติกรรมต่างๆ ที่จะให้ประชาชนหรือคนในชุมชนทำเพื่อส่วนรวมมากขึ้น เห็นภาพใหญ่ของชุมชนมากกว่าตัวเอง อาทิ การตั้งกฎเกณฑ์ร่วมกันเรื่องการดูแลรักษาป่า ต้นน้ำ ทั้งในและนอกพื้นที่ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ, เรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นต้น โดยสร้างให้เขามีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของและมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าว สร้างคุณค่าและความภูมิใจในตัวเองด้วยอาชีพที่สุจริต ขณะเดียวกันก็ต้องให้คนในชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนมีส่วนร่วมในการตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามกฎที่คนในชุมชนร่วมกันตั้งขึ้นมา
ส่วนบทบาทของภาครัฐในเรื่อง วัฒนธรรมแห่งการรักษากติกา (Culture of Lawfulness) เห็นว่า ภาครัฐควรจะมีบทบาทเสมือนเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมากกว่าเป็นผู้บังคับ ควรทำให้ประชาชนหรือคนในชุมชนได้เรียนรู้ ผลที่เกิดขึ้นจากการทำความดี เกิดขึ้นจากการทำตามกรอบ หรือ กฎเกณฑ์ของสังคมนั้นๆ เป็นทางออกที่ยอมรับได้กับคนส่วนใหญ่ในชุมชน จึงจะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืนมากกว่า ส่งผลให้การกำกับดูแลของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้งบประมาณการในการจัดการน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันกลับสร้างพื้นฐานของการมีประชาชนที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญให้ประเทศก้าวไปอย่างมั่นคงได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice หรือ CCPCJ) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council – ECOSOC) ของสหประชาชาติ เพื่อหารือนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมและส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา การปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมมาตรฐานและค่านิยมของสหประชาชาติ (UN standards and norms) การแลกเปลี่ยนข้อมูลในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งบทบาทของ CCPCJ ในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ในระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา