กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
พีบีไอซี มธ. ผลักดัน โมเดลการเรียนรู้ระดับโลก ผ่าน 3 หลักสูตร สุดอินเตอร์ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน – ไลฟ์สไตล์ผู้เรียนยุคใหม่
ท่ามกลางยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย หลังการเลือกตั้งที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานกว่า 5 ปี คนไทยมีความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะความหวังที่ฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ ที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ในขณะที่คนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อย ก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกจากตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศไปตามวาระ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่ แต่เป็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ "สถาบันการศึกษา" ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการผลักดันคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรคุณภาพ ออกมารับใช้ประเทศชาติอยู่เสมอ โดยเฉพาะบุคคลสำคัญในวงการการเมืองไทย ที่มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ ศิษย์เก่า หรือแม้กระทั่งบุคคลสำคัญยุคเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตยอย่าง ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย หากมองย้อนไปถึงเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น นอกจากต้องการผลิตบุคลากรคุณภาพเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติแล้ว ส่วนหนึ่งท่านยังต้องการให้ธรรมศาสตร์เป็น "ตลาดวิชา" ของประชาชน หรือทำหน้าที่เป็นบ่อบำบัดความกระหายให้แก่ราษฎร และให้เสรีภาพทางการศึกษาแก่คนทุกชนชั้น จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ธรรมศาสตร์อยู่คู่ประเทศไทยมาเป็นเวลา 85 ปี เผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ และความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย โดยที่ธรรมศาสตร์มีการปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ทั้งผู้เรียน และผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานคุณภาพ จากรั้วมหาวิทยาลัยแนวหน้าของประเทศไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ "อนาคตอุดมศึกษาไทย : จากบ่อน้ำบำบัดความกระหายสู่ความหลากหลายของการเรียนรู้" โดยมี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย ความท้าทายใหม่ๆ สำหรับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะจำนวนที่ลดลงของผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยในปีที่ผ่านมา มีจำนวนที่นั่งของมหาวิทยาลัยว่างกว่า 1.2 แสนที่นั่ง สาเหตุหนึ่งมาจากจำนวนประชากรวัยเรียนที่ลดลง และอีกสาเหตุสำคัญ คือ เทรนด์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป ไม่จำกัดอยู่แค่ในระบบการศึกษาเท่านั้น ตลอด 85 ปีที่ผ่านมา ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ธรรมศาสตร์เล็งเห็น และมีการปรับตัวอยู่เสมอ หากย้อนรอยประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของธรรมศาสตร์ จะเห็นว่าไทม์ไลน์การเปลี่ยนแปลงของธรรมศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 ยุค ที่สร้างการเป็นเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้แก่มหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้
- บ่อบำบัดความกระหายของราษฎร: ตลาดวิชาธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ให้เสรีภาพทางการศึกษา
ความตั้งใจแรกเริ่มของอาจารย์ปรีดี ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น นอกจากการให้เสรีภาพทางการศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปแล้ว ยังมองว่าการทำให้การเรียนรู้ระดับอุดมศึกษา เป็นแบบ "ตลาดวิชา" หรือการเรียนรู้ที่หลากหลาย ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญเช่นกัน โดยในปี พ.ศ. 2477 หรือปีแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองถือกำเนิดขึ้น มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบหลักสูตรเดียว คือ "ธรรมศาสตรบัณฑิต" หรือการเรียนการสอนที่ผู้เรียนจะได้เรียนด้านสังคมศาสตร์อย่างกว้างขวาง ทั้ง นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ จุดประสงค์หลักเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจหลักกฎหมาย หลักการปกครอง และหลักการทางเศรษฐศาสตร์ไปด้วยกัน เพื่อป้อนบัณฑิตที่มีความเข้าใจหลักสังคมพื้นฐานอย่างรอบด้านเข้าสู่งานราชการ และมุ่งหวังให้เหล่าธรรมศาสตรบัณฑิต ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไป
- รับใช้ประชาคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน: 4 คณะก่อตั้ง กับการมุ่งสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
หลังจากที่เปิดหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต เป็นเวลา 15 ปี ในปี พ.ศ. 2492 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปรับเปลี่ยนการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน แยกออกเป็น 4 คณะ หรือที่รู้จักกันในนาม 4 คณะก่อตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์นั้นๆ อย่างลึกซึ้ง ตอบโจทย์สังคมยุคอุตสาหกรรมในขณะนั้น ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ และต่อมาก็มีการเปิดคณะ และสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้น ครอบคลุมทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตอบโจทย์ความต้องการบัณฑิตที่หลากหลายในโลกการทำงาน
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมยุคอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ภาคธุรกิจต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานได้ ความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจจึงไม่เพียงต้องการคนที่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องการคนที่มีความสามารถรอบด้าน เหนือกว่า AI หน้าที่ของมหาวิทยาลัยจึงต้องดึงศักยภาพในตัวนักศึกษาแต่ละคนออกมาให้ได้ โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การให้ความรู้ หรือการป้อนข้อมูลให้แก่ผู้เรียน ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องทำให้ผู้เรียนเป็นนักคิด วิเคราะห์ รวมทั้งทำให้มหาวิทยาลัย กลายเป็นที่ที่ผู้เรียนสามารถเตรียมพร้อมทักษะต่างๆ (Up - skill) ก่อนเข้าสู่โลกการทำงาน อาทิ การเข้าสังคม การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการประนีประนอม อีกทั้งผลักดันความสามารถในการปรับตัว (Re – skill) ให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- สู่ความหลากหลายทางการเรียนรู้: ธรรมศาสตร์ กับการปรับตัวสู่ตลาดวิชาอีกครั้ง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัว รองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป เทรนด์การเรียนรู้แบบ "ตลาดวิชา" หรือความเข้าใจศาสตร์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์โลกการทำงานและตรงตามความสนใจของผู้เรียน โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดคณะ วิทยาลัยใหม่ๆ ที่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบไม่ได้มุ่งเน้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจหลากหลายศาสตร์ไปพร้อมกัน ซึ่งเทรนด์การเรียนรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ อาทิ หลักสูตรโลกและอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นต้น หลักสูตรเหล่านี้ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้อย่างบูรณาการ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของอาณาบริเวณศึกษานั้นๆ ต่างจากการเรียนการสอนในอดีต ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ตามสังกัดของคณะ อาจกล่าวได้ว่าการปรับตัวของธรรมศาสตร์ กำลังกลับไปสู่การเรียนรู้แบบหลากหลาย หรือ "ธรรมศาสตรบัณฑิต" อีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ก็กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อยู่เสมอ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) เป็นอีกหนึ่งในก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการปรับตัวสู่การเรียนรู้ยุคใหม่ ด้วยการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการการเรียนรู้ เชื่อมโยงการทำความเข้าใจศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา ภาษา และวัฒนธรรม ของอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) ที่น่าจับตามอง ได้แก่ จีน อินเดีย และไทย นอกจากนี้ การเรียนการสอนแบบที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในหลากหลายศาสตร์ ยังเป็นการสืบสานเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี ในแง่ของความต้องการผลักดันการเรียนรู้ที่หลากหลายตามความตั้งใจในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย "ตลาดวิชา" แห่งแรกของประเทศไทย
"นอกจากนี้ยังมีความท้าทายใหม่ๆ สำหรับภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะจำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง พีบีไอซี ในฐานะวิทยาลัยนานาชาติที่มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นโอกาสที่จะได้ทุ่มเทงบประมาณ ทรัพยากร ความสามารถของบุคลากร เพื่อปลุกปั้นบัณฑิตทุกคนอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ เพื่อดึงนักศึกษาต่างชาติ เข้ามาเรียนที่พีบีไอซีมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาพีบีไอซี ได้เรียนรู้มากกว่าในห้องเรียน ผ่านโอกาสการศึกษาในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชั้นนำในต่างประเทศ และจะมุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่อไป รับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น" ผศ.ดร. นิธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทั้งแง่มุมเศรษฐกิจ การเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ในอาณาบริเวณศึกษาเฉพาะที่น่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือไทย ด้วยการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ และโอกาสที่จะได้ศึกษาแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชื่อดังในต่างประเทศ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU