กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ประกาศจัดอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ระดับ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทที่ระดับ 'BBB+'
อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และด้านกลยุทธ์ที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง ฟิทช์พิจารณาอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ ปตท.สผ. อยู่ที่ระดับ 'bbb' สะท้อนถึงปริมาณการผลิตที่อยู่ในระดับปานกลาง ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับต่ำแต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต และฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับบริษัทแม่: ฟิทช์พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท.อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) โดยสะท้อนถึงการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างสองบริษัท โดย ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินงานธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. โดย ปตท.สผ. ขายผลิตภัณฑ์มากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดให้แก่ ปตท. และรายได้มากกว่าร้อยละ 90 ของ ปตท.สผ. มาจาก ปตท. นอกจากนี้สัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จาก ปตท.สผ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 ของกลุ่ม ปตท. ในปี 2561
การดำเนินงานของ ปตท.สผ. ยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนบทบาทเชิงกลยุทธ์ของบริษัทแม่ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย และช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ปตท. มีตัวแทนในคณะกรรมการของ ปตท.สผ. และเป็นผู้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงบางส่วนของบริษัท นอกจากนี้ ปตท. ยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ปตท.สผ. ในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่
ธุรกิจที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าการเข้าซื้อธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของ Murphy Oil ในประเทศมาเลเซียมูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆนี้ และการชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณ น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตและสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. สผ. ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ในปี 2561 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves)ที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปี 2560 การชนะการประมูลดังกล่าวยังช่วยให้ความเสี่ยงจากการสูญเสียการผลิตจากแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในปี 2561 หมดไป และยังเพิ่มความแข็งแกร่งของ ปตท.สผ. ในฐานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยอีกด้วย โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากแหล่งบงกชและเอราวัณ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยทั้งหมดในปี 2561
ปตท. สผ. มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว อยู่ที่ 677 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วต่อปริมาณการผลิตของบริษัทอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 5 ปี ฟิทช์มองว่าการลงทุนของบริษัท ซึ่งรวมถึงโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquid Natural Gas: LNG) ในประเทศโมซัมบิค และการชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณน่าจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและปริมาณการผลิตในระยะยาวได้ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาโครงการในประเทศโมซัมบิคมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยบริษัทคาดว่าจะมีการตัดสินใจที่จะลงทุนพัฒนาโครงการ (Final Investment Decision) ภายในเดือน มิถุนายน 2562 ฟิทช์คาดว่าปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วต่อปริมาณการผลิตของ ปตท.สผ.จะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ามาอยู่ที่ระดับ 7 ปี แม้ว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม 'BBB'
การลงทุนที่สูง: ฟิทช์คาดว่า ปตท.สผ.จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4.8 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รวมการเข้าซื้อธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของ Murphy Oil การลงทุนพัฒนาโครงการในประเทศแอลจีเรีย เวียดนาม และโมซัมบิค การลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้เข้าซื้อเมื่อเร็วๆนี้ และการสำรวจแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในการพิจารณาอันดับเครดิตนี้ ฟิทช์ยังมิได้พิจารณาการเข้าซื้อกิจการที่มีขนาดใหญ่ โดยฟิทช์จะมีการพิจารณาทบทวนอันดับเครดิตอีกครั้งหากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น
ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าฐานะทางการเงินของ ปตท.สผ.จะยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีการลงทุนที่สูง ฟิทช์มองว่าปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น น่าจะส่งผลให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น จากสมมุติฐานราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของฟิทช์ และส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยมีสมมุติฐานว่าจะไม่มีการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ ดังนั้นฟิทช์คาดว่าบริษัทน่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ โดย ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีเงินสดมากกว่าหนี้สิน และฟิทช์มองว่าฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยังทำให้บริษัทมีความสามารถในการลงทุนที่สูงได้โดยไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตโดยลำพัง: อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ ปตท.สผ.ที่ 'bbb' สะท้อนถึงการเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ต่ำแต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนในการผลิตปิโตรเลียมที่อยู่ในระดับต่ำ และฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยต้นทุนในการผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13.8 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 (ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 อยู่ที่ 16.3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ; ปี 2561 อยู่ที่ 15.1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ) และบริษัทคาดว่าจะดำเนินการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของบริษัท
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ ปตท.สผ เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ ปตท. เนื่องจากความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) ฟิทช์มองว่าความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ของ ปตท.สผ. ในด้านการดำเนินงาน และด้านกลยุทธ์อยู่ในระดับสูง โดย ปตท.สผ. เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. และเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยการดำเนินงานของบริษัทมีความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ และสนับสนุนบทบาทเชิงกลยุทธ์ของบริษัทแม่ในอุตสาหกรรมอีกด้วย นอกจากนี้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จาก ปตท.สผ. มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่ม ปตท. โดย ปตท.สผ. ขายผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดที่ผลิตได้ให้แก่ ปตท. ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานกับ ปตท. ที่อยู่ในระดับสูง
การจัดอันดับเครดิตของ ปตท.สผ. ในระดับเดียวกันกับบริษัทแม่ เป็นการจัดอันดับในลักษณะเดียวกับการจัดอันดับของ PetroChina Company Limited (PetroChina; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'A+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ China National Petroleum Chorporation (CNPC; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'A+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) โดย PetroChina มีความสัมพันธ์กับ CNPC ที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ฟิทช์มองว่าความสัมพันธ์ด้านกลยุทธ์และการดำเนินงานของ ปตท.สผ. และ ปตท. อยู่ในระดับมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง PT Perusahann Gas Negara Tbk (PGN; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB-' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ บริษัทแม่ PT Pertamina (Persero; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตของ PGN ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่อยู่หนึ่งอันดับ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ในปี 2562 และ 2563
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ราคา 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2562, 62.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2563, 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2564, 57.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปีถัดๆไป
- ราคาขายก๊าซธรรมชาติเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนอยู่ในช่วง 2-4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
- จ่ายปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต
ปัจจัยบวก
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท. โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท. ยังคงเหมือนเดิม
ปัจจัยลบ
- การปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท.
- ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท. ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
สำหรับอันดับเครดิตของ ปตท. มีปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตในอนาคต ซึ่งแสดงไว้ในรายงานเครดิตลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ดังนี้
ปัจจัยบวก
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยโดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท. และภาครัฐฯ ยังคงเหมือนเดิม
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากความอ่อนแอของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยเฉพาะสถานะปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ปัจจัยลบ
- การปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. รวมไปถึง:
- การลงทุนจำนวนมากโดยใช้เงินกู้ยืม หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัดจาก FFO adjusted net leverage ที่สูงกว่า 2.8 เท่า (ปี 2561 อยู่ที่ 0.7 เท่า)
- สถานะทางการเงินของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท. สผ.) ที่อ่อนแอลง ซึ่งวัดจาก FFO adjusted net leverage ที่สูงกว่า 2.5 เท่า และการที่ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า
- การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: ปตท.สผ. มีเงินสดอยู่ในระดับที่สูงจำนวน 1.3 แสนล้านบาท (ประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ณ สิ้นปี 2561 ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องสูง ฟิทช์คาดว่า ปตท.สผ.จะยังคงมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก ภายใต้สมมุติฐานว่าบริษัทไม่มีการเข้าซื้อกิจการในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากสมมุติฐานราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของฟิทช์ ซึ่งน่าจะทำให้ ปตท.สผ. ยังคงมีสภาพคล่องที่ดี นอกจากนี้ ความสามารถของ ปตท.สผ. ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ยังช่วยสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทอีกด้วย