กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--กรทรวงการคลัง
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งเสริม e-Learning หลักสูตรเงินทองต้องวางแผน เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้แก่นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมทั่วประเทศ
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า "ขณะนี้กองทุนได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาที่เป็นผู้กู้ยืมเงินได้เรียนรู้หลักสูตรเงินทองต้องวางแผนผ่านระบบ e-learning เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยทางการเงิน รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม และมีเทคนิคการจัดการเงินอย่างถูกวิธี ตลอดจนสามารถวางแผนชำระคืนเงินกู้ยืมได้ตามกำหนด ซึ่งการเรียนผ่าน e-learning นับเป็นทางเลือกในการนับเป็นชั่วโมงจิตอาสาของผู้กู้ยืมเงิน เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเข้าเรียนออนไลน์ผ่านระบบ e-Studentloan เมื่อเรียนจบหลักสูตรผู้กู้ยืมสามารถพิมพ์ประกาศนียบัตร (e-Certificate) ไปยื่นให้กับสถานศึกษา และจะได้นับเป็นชั่วโมงจิตอาสาจำนวน 3 ชั่วโมง นำไปสะสมจำนวนชั่วโมงจิตอาสาให้ครบตามที่กองทุนกำหนด ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนได้กำหนดให้ผู้กู้ยืมใช้เกณฑ์การนับชั่วโมงจิตอาสา 36 ชั่วโมงเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคัดเลือกผู้กู้ยืมเงิน หากผู้กู้ยืมเงินมีวินัยทางการเงินก็จะสามารถวางแผนชำระหนี้กยศ. ได้ตามกำหนด เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง และคาดว่าจะช่วยลดการเกิดเบี้ยปรับและลดปริมาณการฟ้องร้องคดีได้ต่อไป"
นางสาวปิยาภรณ์ ครองจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "โครงการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ด้วย e-Learning หลักสูตร เงินทองต้องวางแผน นี้ เป็นการทำงานร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ระหว่าง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อส่งเสริมความรู้การเงิน ขั้นพื้นฐาน (Financial Literacy) ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย โดยโครงการนี้มุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่ม นักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ครอบคลุมกว่า 600,000 คน ทั่วประเทศ ซึ่งความร่วมมือนี้ สอดคล้องกับภารกิจการส่งเสริมความรู้ทางการเงินที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่าทศวรรษ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความมั่นคงทางการเงินและมีสุขภาพการเงินที่ดี รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการออมให้กับสังคมไทย"