กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--OKMD
OKMD หรือ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี จัดหลักสูตรอบรมครูสายสามัญและสายอาชีวศึกษาใน จ.ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา 300 คน ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2562 เพิ่มความรู้และทักษะใหม่ในการสอนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Augmented Reality : AR) ตามหลักการพัฒนาสมอง ผลวิจัยพบประสิทธิภาพเรียนรู้สูงถึงร้อยละ 75-90 เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจและแรงบันดาลใจในการเลือกศึกษาในสาขาวิชาชีพ ที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะมีความต้องการกว่า 170,000 คน ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2564 (จากผลวิจัยของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง)
ดร. อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ สำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเปิดอบรมบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งจัดที่โรงแรมนานาชาติบางแสน จ.ชลบุรี ว่า OKMD ได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาบุคลากรและกำลังคนรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยจัดกิจกรรมอบรมครูที่สอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัดคือ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ใน 2 หลักสูตร คือหลักสูตรเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) และหลักสูตรเทคโนโลยีความจริงเสมือน (AR) รวมจำนวน 300 คน แบ่งเป็นหลักสูตรละ 150 คน ระหว่างวันที่ 25-27 พ.ค. 62 นี้ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจและทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถนำไปจัดการเรียนการสอนเด็กและเยาวชน กระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจและแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนในสาขาวิชาชีพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี 10 อุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น เพื่อต่อยอดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำของทวีปเอเชีย
ดร. อภิชาติ กล่าวว่า ในการอบรมครั้งนี้ OKMD ได้ส่งเสริมให้ครูใช้หลักการพัฒนาสมองหรือที่เรียกว่า Brain-based Learning : BBL เป็นแนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ทั้ง 2 หลักสูตร ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบสตีม (STEAM Education) เพื่อเพิ่มทักษะในทางปฏิบัติให้สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตัวเอง โดยอาศัยการบูรณาการความรู้ 5 วิชาหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) ศิลปะ (Arts) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) โดยมีผู้สอนทำหน้าที่คอยแนะนำผู้เรียน ซึ่งผลการศึกษาจากสถาบัน ฝึกทดลองแห่งชาติสำหรับประยุกต์พฤติกรรมศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา (National Training Laboratories Institute for Applied Behavioral Science) พบว่า เด็กสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นถึงร้อยละ 75 สูงกว่าการนั่งฟังบรรยายที่ให้ผลเพียงร้อยละ 5 หรืออ่านอย่างเดียวจะได้ผลร้อยละ 10 หรือการฟังและดูพร้อมกันที่ให้ผลร้อยละ 20
ดร. อภิชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับการออกแบบการสอนตามหลักการทำงานของสมองนั้นมี 5 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นเตรียมพร้อม (Warm Up) เพื่อกระตุ้นสมอง ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที เมื่อร่างกายเคลื่อนไหวอย่างมีความสุข สมองจะหลั่งสารเคมีชื่อเซโรโทนิน (Serotonin) สารนี้จะมีส่วนช่วยให้จิตใจสงบและเกิดสมาธิ 2. ขั้นตอนการเรียนรู้ (Learning Stage) สมองจะเริ่มเรียนรู้จากง่ายไปหายาก เรียนรู้จากของจริง และจากการใช้ประสาทสัมผัส และการสื่อสารแบบ 2 ทางที่จะช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวได้ รวมไปถึงการสรุปความเข้าใจในแต่ละชั่วโมงการเรียนรู้ ทำให้เด็กเกิดความสนุก และจดจำได้ดี
ขั้นตอนที่ 3. คือการฝึก เพื่อให้สมองจดจำ คุ้นเคย และนำไปสู่ความจำระยะยาว (Long Term Memory) โดยให้เด็กฝึกฝนความคิด และใช้สมองบ่อยๆ ส่วนขั้นตอนที่ 4. คือ การสรุปเมื่อจบบทหรือหน่วยการเรียน เป็นการฝึกให้เด็กเชื่อมโยงความรู้ทั้งหน่วยภายในบทเรียนเป็นองค์รวม ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานและการเรียนรู้ของสมอง ซึ่งสำคัญต่อเด็กมาก โดยครูเองก็ต้องฝึกฝนบ่อยๆ เช่นกัน และขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนที่ 5. เป็นการประยุกต์ใช้ทันที เมื่อเด็กสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ จะทำให้เกิดการเรียนรู้สูงถึงร้อยละ 90
"การสอนแบบใหม่ โดยการใช้แนวคิด Brain-based Learning หรือ BBL นี้ จะทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ มีสมาธิ มีวินัย มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนตลอดชีวิต และกล้าแสดงออกมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงความรู้ มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ มีทักษะฝีมือซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เด็กไทยจำเป็นต้องมีในศตวรรษที่ 21" ดร.อภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย