กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สอวช.
ตามที่ สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ประจำปี 2562 โดยไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 เป็น 25 ซึ่งนับเป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น คือรัฐบาลส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีการนำดิจิทัลมาใช้ในภาคธุรกิจ และมีสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ส่งผลให้ประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว สอวช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสตาร์ทอัพผ่านการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบกิจการของเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ อาทิ การผลักดันให้เกิด (ร่าง) พระราชบัญญัติการพิสูจน์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ หรือ Sandbox (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดระบบนวัตกรรมที่สมบูรณ์ โดยผลกระทบสำคัญที่อาจเกิดขึ้นโดยตรงต่อระบบวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการดำเนินการสำรวจระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบาย และแนวทางการสนับสนุนสตาร์ทอัพ รวมถึงเพื่อเป็นข้อมูลด้านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจ และเป็นแนวทางในการส่งเสริมจุดแข็ง และแก้ไขปัญหา หรือจุดอ่อนที่พบผ่านการประเมินและพิจารณาจัดทำนโยบายของระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ต่อไปได้
นอกจากนี้ สอวช. ยังให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิด Global partnership ของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย ที่จะต้องมีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) เพื่อเป็นปัจจัยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ในระดับโลก ผ่านการทำงานร่วมกับนานาชาติได้อย่างไม่เสียเปรียบ ทั้งนี้มั่นใจว่า ภาคธุรกิจของไทยจะลงทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว