ดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน อีกหนึ่งบริการด้านสุขอนามัยของกรุงเทพมหานคร

ข่าวทั่วไป Wednesday February 6, 2008 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กทม.
พัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน (Home Health Care) ให้บริการผู้ป่วยภาวะแทรกซ้อน ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ลดจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล ตั้งเป้าครอบคลุมสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.สร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานจากบุคลากรที่มีคุณภาพ
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร 5 ก.พ.51 ถึงโครงการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน ว่า กรุงเทพมหานครมีโครงการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน (Home Health Care) ให้บริการแก่ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อน ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ซึ่งมีความต้องการการดูแลผู้ป่วยที่บ้านเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนเตียงในโรงพยาบาลมีจำนวนจำกัด ทำให้ต้องจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเร็วขึ้น โดยกรุงเทพมหานครจะให้บริการพยาบาลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน เป้าหมายครอบคลุมสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.สร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประชาชนได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานจากบุคลากรที่มีคุณภาพ ทั้งนี้พบผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้านมีจำนวนมากขึ้น โดยพบผู้ป่วย 211,140 คน (ปี 2549-2550) พบผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้านอยู่ในภาวะที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือไม่ได้เลย มีภาวะแทรกซ้อน หรือมีอุปกรณ์การแพทย์ติดตัว เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต มีแผล กดทับ ใส่สายให้อาหาร ใส่สายปัสสาวะ ใส่เครื่องช่วยหายใจ เจาะคอ ใช้เครื่องดูดเสมหะ ฉีดอินสุลินที่บ้าน ฯลฯ จำนวน 42,228 คน (ปี 2549—2550) โดยประชากรในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่กรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายให้ได้รับการดูแลที่บ้าน 4,839,384 คน คิดเป็น 84.96% ของประชากรตามทะเบียนราษฎรที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร (จำนวนทั้งสิ้น 5,695,956 คน)
สำหรับวิธีการดำเนินการนั้น ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ จากการสำรวจสุขภาพครอบครัว โดยพยาบาลวิชาชีพ 4,839,384 คน ซึ่งสำรวจแล้ว 4,061,945 คน (83.94%) ประชากรที่ได้รับการสำรวจต้องได้รับการเยี่ยมบ้าน (Home Visit) เพื่อประเมินภาวะสุขภาพ และรับคำแนะนำการดูแลสุขภาพตามวัย 4,061,945 คน จากพยาบาลและสหวิชาชีพ (เยี่ยมทุกปี) ซึ่งเข้าเยี่ยมบ้านแล้ว 3,070,909 คน (75.60%) ผู้ป่วยเป็นโรคที่จำเป็นต้องดูแลต่อเนื่องที่บ้าน (Home Health Care) จำนวน 211,140 คน (6.9% ของประชาชนที่ได้รับการเยี่ยมบ้าน) โดยพยาบาลวิชาชีพ โดยความถี่การเยี่ยมขึ้นอยู่สภาวะสุขภาพของผู้ป่วย ปัจจุบันเยี่ยมดูแลต่อเนื่องที่บ้านได้ 22,475 คน คิดเป็น 10.6% ของประชากรที่จำเป็นต้องดูแลต่อเนื่องที่บ้าน
การดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการพยาบาลให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคต่างๆ และระบบการดูแลที่มีความต่อเนื่องและครบวงจร โดยมีทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาระบบส่งต่อที่บ้าน ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่มีความต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ