กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กทม.
กทม. ได้รับคัดเลือกเป็นองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการประชาสัมพันธ์ คว้ารางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” ครั้งที่ 22 ประจำปี พ.ศ. 2550 โดยสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ด้านองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการประชาสัมพันธ์ประเภทองค์ก ผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ถึงความภาคภูมิใจที่กทม. ได้รับคัดเลือกเป็นองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการประชาสัมพันธ์ ว่า กทม. ได้รับคัดเลือกเป็นองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการประชาสัมพันธ์ ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” ครั้งที่ 22 ประจำปี พ.ศ. 2550 โดยสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ด้านองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการประชาสัมพันธ์ประเภทองค์กร ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 51 นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เข้ารับมอบรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน ครั้งที่ 22” จากคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกเป็นองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการประชาสัมพันธ์ โดยสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศผลการคัดเลือกองค์กร โครงการ และบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและเป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อส่งเสริมยกย่องเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฏและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หน่วยงานอื่นๆ
กรุงเทพมหานครได้เน้นการประชาสัมพันธ์ที่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์และนโยบายด้านการพัฒนา ให้มีความลงตัวเป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยได้เปิดตัวสัญลักษณ์ 4 มิติ “ชีวิตกรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ซึ่งสามารถอธิบายถึงเอกลักษณ์ ที่ชัดเจน และใช้นวัตกรรมทางการประชาสัมพันธ์และรณรงค์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดี และตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ “กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวอบอุ่นด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม” สำหรับยุทธศาสตร์การบริหารงาน 4 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านเศรษฐกิจ : สร้างเศรษฐกิจที่สมดุลภายใต้ “ความพอเพียง” ประชาชนภูมิใจในความเป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรม เศรษฐกิจสมดุล มิติด้านวัฒนธรรม : การดำรงความเป็นไทยในความเป็นสากล เป็นเมืองแห่งการมีชีวิตที่ดี และลงตัว มิติด้านสิ่งแวดล้อม : มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน พรั่งพร้อมไปด้วยความสะอาด ร่มรื่น และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และ มิติด้านคุณภาพชีวิต : ความอยู่ดีมีสุขของคนกรุงเทพฯ ประชาชนมีความมั่นคง มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต