กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชโคราชจับมือ สพม.31 จัดอบรมความรู้และทักษะครูโรงเรียนระดับมัธยม ให้เป็นครูจิตวิทยาประจำโรงเรียน ยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยมัธยมเมืองย่าโมที่มีกว่า 60,000 คน เพิ่มประสิทธิภาพการเรียน ป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาอาทิติดเกม ซึมเศร้า เชื่อมโยงกับรพ.ในพื้นที่ รพ.เชี่ยวชาญ และผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด เผยในปี2561 พบมีเด็กกลุ่มเสี่ยงและมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 20 ขณะนี้อยู่ในระบบดูแลรักษาแล้ว 1,800 กว่าคน ด้านสพม.31ขยายผลลงกลุ่มนักเรียน โดยใช้พลังกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนร่วมอีก นำร่องแล้ว 15 แห่ง ได้ผลดีมาก เตรียมขยายเต็มพื้นที่ในปีหน้า
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2562 นี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 และสำนักเขตพื้นที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือสพม. 31 ซึ่งดูแลโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาภาครัฐในจ.นครราชสีมาที่มีจำนวน 50 แห่ง นักเรียนประมาณ 65,000 คน จัดอบรมความรู้ทางสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นให้ครูแนะแนวหรือครูที่ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้เป็นครูจิตวิทยาประจำโรงเรียนจำนวน 50 คน หลังจากเริ่มโครงการรุ่นแรกในปีที่ผ่านมาจำนวน 50 คน เพื่อยกระดับมาตรฐานระบบการดูแลสุขภาพจิตเด็กนักเรียนระดับมัธยมทั้งในรายปกติและในรายที่มีความเสี่ยงร่วมกัน 3 ฝ่ายอย่างเข้มแข็งใกล้ชิด ระหว่างโรงเรียน รพ.ในพื้นที่ รพ.เชี่ยวชาญ และผู้ปกครอง เช่นในรายที่มีผลการเรียนตกต่ำ มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ผิดปกติ เช่น ไม่ส่งการบ้าน หนีเรียน ก้าวร้าว ซึมเศร้า เหม่อลอย ขโมยของ เป็นต้น เด็กบางคนอาจป่วยจากโรคทางจิตเวชแอบแฝงติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ที่พบบ่อยเช่นสมาธิสั้น ปัญหาบกพร่องการเรียนซึ่งเกิดมาจากความผิดปกติในสมอง รวมทั้งปัญหาใหม่ที่มีแนวโน้มมากขึ้นคือการติดเกม และโรคซึมเศร้า ซึ่งมีผลต่อการเรียน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างเหมาะสมและทันท่วงที จะทำให้อาการรุนแรง ซับซ้อน เช่นติดยาเสพติด ก้าวร้าว ทำร้ายตนเอง ยากต่อการบำบัดรักษา และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
"ผลดำเนินการในรุ่นแรกพบว่าได้ผลดีมาก ครูสามารถดำเนินการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี ผลการตรวจในปี2561 พบเด็กปกติร้อยละ 80 โดยพบกลุ่มเสี่ยงเช่นมีพฤติกรรมและอารมณ์ผิดปกติและสงสัยมีโรคทางจิตเวชแอบแฝงรวมร้อยละ 20 ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครูจิตวิทยา เช่น ปรับแก้พฤติกรรมครอบคลุมร้อยละ 70 โดยมีเด็กที่ปรับพฤติกรรมเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น สงสัยอาจมีโรคทางจิตเวชแอบแฝงเช่น สมาธิสั้น ดื้อเกเร ติดเกม ติดสารเสพติด เรียนรู้บกพร่อง ประมาณร้อยละ 5 ได้ส่งพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคต่อไป ขณะนี้เด็กอยู่ในระบบการดูแลรักษาแล้ว 1,817 คน เด็กเรียนหนังสือได้" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า สำหรับการอบรมครูในปีนี้ จะเน้นความรู้และทักษะที่จำเป็นควบคู่ไปด้วย 9 เรื่องอาทิ ความรู้สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น เกมและโซเซียลมีเดียในวัยรุ่น การตรวจคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยงและการประเมินอีคิวของเด็กตามมาตรฐาน การดูแลช่วยเหลือ การพัฒนาทักษะชีวิตและความฉลาดทางอารมณ์ และทักษะการปรับพฤติกรรม ใช้เวลาอบรม 2 วันในช่วงปลายเดือนนี้
ทางด้านนายกิตติ บุญเชิด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 31 จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนของเด็ก และจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม ลดปัญหาการออกเรียนกลางคันของเด็กซึ่งพบทุกปีปีละไม่ถึงร้อยละ 5 ลดการสูญเปล่าของงบประมาณลงทุนด้านการศึกษาได้อย่างดี ซึ่ง สพม.31 ได้ขยายผลการดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กนักเรียนด้วยกันด้วย โดยจัดโครงการอบรมพัฒนานักเรียนแกนนำเพื่อนที่ปรึกษา (Youth Counselor: YC) ในรูปแบบของชมรม นำร่องครั้งแรกในปี 2561 ในโรงเรียน 15 แห่ง รวม 110 คน ประกอบด้วยแกนนำนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษาแห่งละ 4-5 คน รวมจำนวน 75 คน ครูแนะแนวเป็นที่ปรึกษาชมรมจำนวน 20 คน และคณะทำงานอีก 15 คน
จากการประเมินผลพบว่าได้ผลดี นักเรียนแกนนำและครูที่ปรึกษาชมรมสามารถจัดกิจกรรมดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้แนวทางเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer counseling) ดูแลซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เพื่อนที่กำลังประสบปัญหาต่างๆ เช่น ด้านการเรียน ด้านพฤติกรรม/อารมณ์ หรือด้านอื่นๆ ได้รับการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันท่วงที และสามารถส่งต่อให้ครูที่ปรึกษาในกรณีที่มีปัญหาซับซ้อนได้ ปีนี้จะเพิ่มอีก 15 แห่ง และขยายเต็มพื้นที่ทั้ง 50 โรงเรียนในปีหน้า มั่นใจว่าจะเสริมประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพจิตของโรงเรียนเข้มแข็งขึ้น