กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--กรมประมง
กรมประมงจัดพิธีปล่อยเรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ออกปฏิบัติงานสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำ ตามโครงการ "การสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเลร่วมระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ – เลสเต" ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 27 กรกฎาคม 2562 รวม 61 วัน
นายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องความร่วมมือด้านวิชาการและเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ – เลสเต การสำรวจในครั้งนี้มีหัวข้อในการวิจัย ได้แก่ ด้านทรัพยากรประมง ด้านสมุทรศาสตร์ และด้านมลพิษทางทะเลและความปลอดภัยทางอาหาร โดยการสำรวจด้านทรัพยากรประมงจะใช้เครื่องมือทำการประมงอวนลอย เบ็ดราวปลาผิวน้ำ เบ็ดราวหน้าดิน อวนลากกลางน้ำ และลอบปลา รวมทั้งมีการศึกษาชีววิทยาของสัตว์น้ำ การแพร่กระจายของลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน และแพลงก์ตอน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเรื่องไมโครพลาสติกในน้ำทะเล และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลสัตว์น้ำอาจกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกได้ การศึกษาในเรื่องดังกล่าวจึงมีความสำคัญและกำลังเป็นที่สนใจระดับโลก
ทั้งนี้ เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ เป็นเรือสำรวจของกรมประมง มีความยาว 67.25 เมตร ขนาด 1,424 ตันกรอส มีระยะทำการ 12,000 ไมล์ทะเล เคยใช้ในการสำรวจแหล่งทำการประมงนอกน่านน้ำในหลายพื้นที่ เช่น ประเทศมัลดีฟส์ ศรีลังกา เซเซลส์ พม่า และในมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น การสำรวจครั้งนี้
เป็นการสำรวจในทะเลอาณาเขต และเขตเศรษฐกิจจำเพาะของติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ด้าน ทิศตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย และอยู่เหนือประเทศออสเตรเลีย โดยมีลูกเรือและนักวิจัยของไทย 37 คน และนักวิจัยจากติมอร์-เลสเต 10 คน ร่วมการสำรวจในครั้งนี้