กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนแบบทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2562 พร้อมแนะแนวทางการนำเสนอโครงการฯเพื่อขอรับทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 30, 2019 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนแบบทั่วไป (Open Grant) ประจำปี 2562 โดยอนุมัติทุนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วงเงิน 203 ล้านบาท พร้อมจัดเวทีเสวนาให้ความรู้เรื่อง "แนวทางการนำเสนอโครงการฯเพื่อขอรับทุนฯให้น่าสนใจ" ในวันที่ 24 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้สนใจขอรับทุนฯ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า "ตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนฯ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา กองทุน ฯ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล หนjวยงาน องค์กรต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่สังคมไทยให้ความสนใจมาร่วมขับเคลื่อนงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กับทางกองทุนกันอย่างล้นหลาม" สำหรับการให้ทุนในปีนี้ กองทุนฯได้จัดแบ่งประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนเป็น 4 ประเภท เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์และวัตถุประสงค์ของกองทุนได้ชัดเจนมากขึ้น คือ การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน, การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับประชาชน รวมทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ, การวิจัยและขับเคลื่อนสังคม ในด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มาร่วมเสวนา "แนวทางการนำเสนอโครงการฯเพื่อขอรับทุนฯให้น่าสนใจ" ประกอบด้วย นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ รศ. อรุณีประภา หอมเศรษฐี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและขับเคลื่อนสังคม ผศ. ดร. วรัชญ์ ครุจิต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านผลิตและพัฒนาสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และประชาชน ดร. ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก เป็นผู้ดำเนินรายการและนายณัฐรัชต์ สาเมาะ นักวิจัยอาวุโสร่วมให้ข้อคิดเห็น เริ่มจาก นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ เปิดประเด็นว่า "ในการนำเสนอโครงการ ผู้เสนอต้องเข้าใจนิยามของสื่อสร้างสรรค์เสียก่อน ซึ่งความหมายคือเป็นสื่อที่ส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคง ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคีและใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างเป็นสุข ฉนั้น การคิดโครงการสื่อจึงต้องมุ่งให้ประโยชน์ต่อสังคม ส่วนรวม หรือแม้แต่มองให้ไกลไปอีกว่าจะนำไปขยายผล ต่อยอด เช่นเผยแพร่ในต่างประเทศได้ และสามสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ เนื้อหาที่นำเสนอเรื่องเพศสภาพที่เบี่ยงเบน ภาษาที่ไม่สุภาพ และความรุนแรง" รศ. อรุณีประภา หอมเศรษฐี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและขับเคลื่อนสังคม เสริมว่า "การคิดสื่อสร้างสรรค์เราต้องถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าประโยชน์คืออะไร ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผล มีความเป็นตัวเอง ไม่ได้ไปลอกเลียนแบบใคร เพราะนั่นคือความเชื่อมั่นที่ทำให้เราสามารถตอบคำถามกรรมการได้ชัดเจน และกรรมการรู้สึกว่ามีคุณค่าต่อการพิจารณา การตั้งชื่อเรื่องก็มีความสำคัญมาก ต้องมีลักษณะที่สร้างสรรค์ และไม่เกิดความรู้สึกเป็นลบ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ" ด้าน ผศ. ดร. วรัชญ์ ครุจิต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านผลิตและพัฒนาสื่อเพื่อเด็ก เยาวชน และประชาชน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ด้วยการให้ทุนสนับสนุนครั้งนี้เป็นแบบ open จึงมุ่งเน้นการกระจาย การมีส่วนร่วมของผู้คนในวงกว้าง ผู้เสนอโครงการจึงควรเลือกประเภทของการขอทุนให้ถูกและสอดคล้องของสื่อ ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการพิจารณา โดยปกติผู้ขอทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทผลิตสื่อ ในขณะที่ประเภทงานวิจัยจะน้อยกว่า สำหรับการคิดโครงการ การตั้งชื่อที่น่าสนใจคือจุดดึงดูดอันดับแรก โดยมีข้อพิจารณาสำคัญ 3 ข้อคือ หนึ่งคือคุณภาพ นั่นคือมีข้อมูลรายละเอียดประกอบ มีเอกสารแนบ หรือมีงานวิจัยรองรับ การอธิบายหลักการเหตุผล กระบวนการขั้นตอน และตัวชี้วัด สองคือคุ้มค่า นั่นคือมีความเหมาะสมคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่ขอ และสามคือความน่าเชื่อถือ หมายถึงความมุ่งมั่นอย่างจริงจังที่จะทำให้ผลงานสำเร็จ มีประวัติผลงานที่ผ่านมาช่วยยืนยัน" นอกจากนั้นยังได้มุมมองจาก นายณัฐรัชต์ สาเมาะ นักวิจัยอาวุโส ซึ่งเป็นผู้ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาจากผลงานการผลิตสื่อเพื่อลดผลกระทบจาก Cyberbullying และได้มาแนะนำเทคนิคในการเขียนโครงการขอทุนว่า "ต้องมีประเด็นที่ชัดเจน มีความใหม่ ไม่ซ้ำใคร คิดนอกกรอบ บ่งบอกตัวตนได้ชัดเจน มีการกำหนดตัวชี้วัด เช่นจำนวนชิ้นของสื่อ จำนวนผู้ชมที่เข้าถึง และตรงวัตถุประสงค์ของแหล่งทุน" สำหรับปัจจัยที่นายณัฐรัชต์เชื่อว่าทำให้ผลงานชองตนได้รับทุนสนับสนุนคือโครงการก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ สร้างสื่อ สร้างคน และสร้างนิเวศสื่อ โดยการดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ผู้สนใจขอรับทุนสนับสนุนฯ สามารถยื่นขัอเสนอโครงการหรือกิจกรรมต่อสำนักงานกองทุนฯ พร้อมเอกสารหลักฐานผ่านระบบออนไลน์เพียงช่องทางเดียว ที่ http://granting.thaimediafund.or.th/login.html ตั้ งแต่วันนี้ ถึง 14 มิ.ย. 2562 เวลา 16.30 น. และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0 2273 0116-8 ในวันและเวลาราชการ หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.thaimediafund.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ