กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่มักมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ใช้งานกว้างขวางและความสูง ของอาคาร เมื่อเกิดเพลิงไหม้ อาจทำให้ยากต่อการควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามขยายวงกว้าง การติดตั้งระบบป้องกันและระงับเพลิงไหม้ที่มีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอัคคีภัยได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีตรวจสอบระบบป้องกันและระงับเพลิงไหม้ รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือเพลิงไหม้ ดังนี้
ตรวจสอบระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
แผนผังอาคาร ติดตั้งผังอาคารรวมบริเวณชั้นล่าง และผังอาคารของแต่ละชั้นในทุกชั้น ซึ่งแสดงตำแหน่งที่อยู่ อุปกรณ์ดับเพลิง เส้นทางหนีไฟ และประตูทางออกฉุกเฉิน
ป้ายบอกเส้นทางหนีไฟ ติดตั้งในบริเวณที่มองเห็นชัดเจน และมีไฟส่องสว่างนำไปสู่ทางออกจากอาคาร
ถังดับเพลิง อยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยติดตั้งถังดับเพลิงในจุดที่สังเกตเห็นได้ง่ายและหยิบใช้งานสะดวก
ประตูทางออกฉุกเฉิน บานประตูและผนังโดยรอบประตูต้องเป็นวัสดุทนไฟ โดยติดตั้งในลักษณะผลักเข้าสู่
ด้านในของบันไดหนีไฟ กรณีเป็นประตูทางออกชั้นล่างสุดหรือดาดฟ้าต้องติดตั้งในลักษณะผลักออก
บันไดหนีไฟ ต้องมีอย่างน้อย 2 แห่ง ในตำแหน่งที่สามารถหาได้ง่าย ไม่วางสิ่งของและวัสดุติดไฟง่ายกีดขวางบริเวณทางเดินของบันไดหนีไฟ อีกทั้งมีช่องหน้าต่างระบายควัน
อุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ (Sprinkler System) โดยทุกชั้นของอาคารต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เพื่อควบคุมเพลิง ในเบื้องต้น พร้อมตรวจสอบให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอ
ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทั้งกริ่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ อุปกรณ์ดักจับควันหรือ ความร้อน และระบบเตือนภัยฉุกเฉินที่ส่งสัญญาณในลักษณะแสงหรือเสียง
ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน ต้องแยกออกจากระบบไฟฟ้าอื่นภายในอาคาร เพื่อให้สามารถทำงานได้ทันทีที่เกิดเพลิงไหม้และไฟฟ้าดับ โดยไฟสำรองต้องจ่ายไฟได้นานกว่า 2 ชั่วโมง ทั้งการส่องสว่างในเส้นทางหนีไฟ เครื่องสูบน้ำ ลิฟต์ดับเพลิงและระบบสื่อสาร
4 ข้อควรรู้ - รับมือเพลิงไหม้อาคารสูง
1.ตรวจสอบ ระบบสัญญาณเตือนและอุปกรณ์ระงับเหตุเพลิงไหม้ให้พร้อมใช้งาน ประตูทางออกฉุกเฉินไม่ปิดล็อกเส้นทางอพยพและบันไดหนีไฟไม่มีสิ่งของวางกีดขวาง กรณีเกิดเพลิงไหม้จะได้อพยพออกจากอาคารทันท่วงที
2.จดจำ เส้นทางไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินและบันไดหนีไฟอย่างน้อย 2 เส้นทาง เพื่อใช้เป็นเส้นทางอพยพออกจากอาคาร เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้
3.เรียนรู้ วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ อาทิ การแจ้งเหตุฉุกเฉิน การส่งสัญญาณเตือน การใช้ถังดับเพลิง รวมถึง
เข้าร่วมการซ้อมอพยพหนีไฟออกจากอาคาร จะได้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเมื่อเกิดเพลิงไหม้
4.เตรียมพร้อม จัดเตรียมสิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ในจุดที่หยิบใช้งานสะดวก หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ จะได้นำมาใช้งานได้ทันที