กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สวทช.
สภาพัฒน์ฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (สพข.)มั่นใจ เครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(ITAP) สวทช. ทุ่มงบ 15 ล้านบาท พัฒนาเทคโนโลยี ให้กับกลุ่มคลัสเตอร์ 3 กลุ่มหลัก อาหาร , ไม้- เฟอร์นิเจอร์ และ ไอที ตั้งเป้า 50 รายทั่วภูมิภาค เหนือ ,ใต้ , อีสาน ภายในระยะเวลา 1 ปี
ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย โดยผ่านหน่วยงานของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือและบริการในแต่ละด้าน ทั้งทางด้านการตลาด และเงินทุน อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม , กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น แต่ในเรื่องของคุณภาพสินค้าหรือหากถามหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆแล้ว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบามสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการทางด้านนี้ ที่มีบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี กระบวนการผลิต ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้ “โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(ITAP)”
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP)เปิดเผยว่า โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สวทช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 15 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (สพข.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ภายใต้โครงการสร้างเครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยในภูมิภาคอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากสภาพัฒน์ฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ใน 3 กลุ่มคลัสเตอร์ ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร , กลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีและซอฟต์แวร์
“ การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันนั้น คือ การทำให้เอสเอ็มอีมีความสามารถมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้น ในฐานะที่ สวทช.มีกิจกรรมสนับสนุนภาคเอกชน ที่เรียกว่าโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว จึงได้เสนอกิจกรรมของโครงการ ITAP ไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เพื่อของบประมาณสนับสนุนกิจกรรมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายของโครงการ ITAP เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 15 ล้านบาท ” รศ.ดร.สมชาย กล่าวและว่า
โดยมีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยี และปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ ภาคเหนือ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ภาคละ 5 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มขีดความสามารถให้ได้ 50 บริษัททั่วภูมิภาค นอกจากนี้เงินสนับสนุนดังกล่าว ยังนำไปพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับเครือข่ายทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลร่วมกันได้อย่างทั่วถึง และสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ITAP ประกอบด้วย สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ , เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) ดูแลพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง , มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ดูแลพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างทั้งหมด เพื่อให้ที่ปรึกษาเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า ITA มีความพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่นั้นได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งคาดว่า กิจกรรมดังกล่าวจะทำให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.สมชาย ยังกล่าวอีกว่า “ สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการมุ่งเน้นในปีนี้ โดยเฉพาะทางภาคใต้ ซึ่งถือเป็นภาคที่ยังใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักในการผลิต ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมยางพารา และอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน ตลอดจนพัฒนาเศษเหลือทิ้งจากต้นปาล์ม อาทิ ก้านและเปลือก ที่สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ เช่น นำมาผลิตเป็นผนัง เป็นต้น โดยขณะนี้ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และนำผู้เชี่ยวชาญทางด้านวนผลิตภัณฑ์ จากกรมป่าไม้ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาแล้ว ”
สำหรับเกณฑ์ในการประเมินผลการพัฒนาการที่ดีขึ้นของบริษัท มีด้วยกัน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านเศรษฐกิจและการเงิน อาทิ มีรายได้เพิ่มขึ้น , ต้นทุนการผลิตลดลง 2. ด้านเทคโนโลยี จะต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยีมีกระบวนการผลิตใหม่ๆ เกิดขึ้น และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดีขึ้น หรือ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และ3. ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มีมลพิษจากการผลิตลดน้อยลง และมีการจ้างแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝืมือ หรือ แรงงานที่มีความรู้ความชำนาญมากขึ้น เช่น วิศวกร หรือ นักวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ โครงการสร้างเครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยในภูมิภาคอย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน มีระยะเวลาโครงการทั้งสิ้น 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมิถุนายน 2549 โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2564-8000 หรือที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/itap--จบ--