กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--นิวส์ เพอร์เฟค คอมมิวนิเคชั่น
สุนัขที่ลูกอ่อนจะดุขึ้นซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีเพื่อปกป้องอันตรายจกลูกน้อยของเธอ แต่แม่สุนัขบางตัวมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากเกินเหตุ ทำให้แม้แต่เจ้าของที่สุนัขเคยเป็นมิตรกลับกลายเป็นเห็นว่าเป็นศัตรูเข้าใกล้ไม่ได้
สันชาติญาณการป้องกันลูกอ่อนเป็นธรรมชาติของสุนัขเพศเมีย เกิดเนื่องจากสารเคมีในสมองได้รับแรงกระตุ้นให้สั่งการ จากเสียงของลูก, การมองเห็นลูกอ่อน และจากการได้กลิ่นตัวลูก รวมถึงแรงกระตุ้นจากการดูแลลูกและการดูดนมกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนอ๊อกซี่โตซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นเสมือนพันธะระหว่างแม่กับลูก (อ๊อกซี่โตชินช่วยในการบีบตัวของมดลูก,หลั่งน้ำนม และการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก ) ฮอร์โมนตัวอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งท้องจะลดลงอย่างรวดเร็วและมีฮอร์โมนเพศเมียเข้ามาแทนที่ คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และ ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างน้ำนม คือ โปรแลคติน (Prolactin) จะสูงซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวของแม่สุนัขด้วยขบวนการที่เกิดขึ้นในร่างกายเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้แม่สุนัขเกิดอาการหวงลูก และบางตัวจะดุมาก อาการการหวงลูกเป็นอาการปกติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด ดังนั้นเมื่อสัตว์มีลูกควรอยู่ให้ห่างๆ ไว้จะปลอดภัยกว่า แต่ส่วนมากแล้วเจ้าของสุนัขหรือแมวมักจะสามารถเข้าใกล้ลูกหมาหรือลูกแมวได้ โดยสุนัขจะไม่แสดงอาการหวงลูกให้เห็นมากนัก เป็นเพราะสุนัขหรือแมวไว้ใจเจ้าของ
ในกรณีสุนัขที่หวงลูกแล้วเกิดอาการก้าวร้าวมากถึงขั้นทำอันตรายเจ้าของ โดยเฉพาะสุนัขที่ตัวใหญ่หรือสุนัขพันธุ์ใหญ่ ซึ่งสามารถทำอันตรายกับเจ้าของถึงตายได้ ควรจะทำหมันเสียเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับเจ้าของและผู้ที่ไม่รู้และอาจเข้าไปใกล้ โดยควรทำหมันหลังคลอดได้สักระยะ การทำหมันจะทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความก้าวร้าวคือ เอสโตรเจนลดลงเร็ว และอาจให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อช่วยลดระดับความดุร้ายลงได้เร็วขึ้น แม่สุนัขที่ก้าวร้าวเพราะหวงลูกมักมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ จึงไม่ควรให้สุนัขที่ดุร้ายเวลาเลี้ยงลูกผสมพันธุ์อีกต่อไป เพื่อจะได้ไม่ถ่ายทอดไปสู่ลูก
แม่ผู้เป็นนักฆ่าการกัดทำร้ายลูกเป็นอีกกรณีหนึ่งของความก้าวร้าวเนื่องจากการมีลูก เมื่อแม่สุนัขตกลูกและพบว่าตัวเองไม่สามารถดูแลลูกได้แม่สุนัขจะฆ่าลูกทั้งคลอกทันที ตัวอย่างเช่น แม่สุนัขร๊อตไวเลอร์ ฆ่าลูกตัวเองทั้งคลอกภายหลังคลอดได้เพียง 24 ชั่วโมง เนื่องจากเจ้าของพาลูกสุนัขไปตัดหางมา โดยแม่สุนัขอาจจะเข้าใจว่าลูกสุนัขได้รับการติดเชื้อหรือถูกทำร้ายมาหรือปนเปื้อนอย่างอื่นมา จึงทำลายลูกเสียเพื่อให้ลูกพ้นจากความทรมาน
พฤติกรรมฆ่าลูกนี้พบได้บ่อยในหนูทดลองที่มักฆ่าลูก เมื่อลูกหนูมีคนมาจับมากเกินไปหรือลูกเปื้อนเลือด สรุปก็คือกลิ่นน่าจะเป็นสาเหตุของการทำลายลูก เพราะหนูอาจเข้าใจว่าไม่ใช่ลูกของตัวเอง และเป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติเพื่อให้ตัวที่แข็งแรงเท่านั้นที่อยู่รอดได้
โดยสรุปธรรมชาติเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนและสัตว์ พฤติกรรมการหวงลูกเป็นพฤติกรรมระยะสั้นเท่านั้น และลูกแมวหรือลูกสุนัขก็ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ถ้าปราศจากแม่คอยปกป้อง จึงถือว่าเป็นหน้าที่และกลไกของธรรมชาติ
ธรรมชาติมักจะสามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าและมักมีเหตุผลรองรับ การที่แม่เลี้ยงลูกแม่จะเรียนรู้จากประสบการณ์และเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดให้กับลูก และความเป็นแม่ก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ มีแม่สุนัขจำนวนน้อยเท่านั้นที่นิสัยไม่ดีทำลายลูก ซึ่งถือว่าเป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติเพราะการทำลายลูกก็จะไม่มีสายเลือดที่ทำลายลูกสืบต่อไป ทำให้สายพันธุ์คงอยู่รอดได้
สนับสนุนบทความโดย โรงพยาบาลสัตว์เอ็น.พี.