เยือน“แก่งเกาะใหญ่” มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday February 6, 2008 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--สกว.
นอกเหนือจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ถูกประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2534 แล้ว น้อยคนนักที่จะตระหนักว่าอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ก็ถูกขึ้นทะเบียนในคราวเดียวกัน ทั้งนี้เพราะนักท่องเที่ยวมักมองว่ากำแพงเพชรเป็นเพียงเมืองผ่านระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จึงไม่สนใจแวะเวียนจังหวัดนี้เท่าใดนัก
ความจริงแล้ว จ.กำแพงเพชร มีสิ่งน่าสนใจมากมาย ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต สินค้าพื้นเมือง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา และเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการท่องเที่ยว
จุดเริ่มต้นของนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสความสวยงามของโบราณสถานที่ขึ้นชื่อเป็นมรดกโลก ควรเริ่มต้นจากอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เนื้อที่ 503 ไร่ และเป็นเขตอรัญญิกอีก 1,611 ไร่ ซึ่งจะมีวิทยากรคอยบรรยายให้ความรู้ ควบคู่ไปกับการใช้สื่อมัลติมีเดีย ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเข้าใจ และลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาต่างๆ ของเมืองกำแพงเพชรตั้งแต่สมัยอดีตถึงปัจจุบันได้ง่ายขึ้น
โบราณสถานของที่นี่ นับเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง รูปแบบทางศิลปกรรมเกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา ลัทธิเถรวาท แบบลังกาวงศ์ เช่น วัดพระแก้ว ที่มีพระอารามหลวงขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่กลางเมือง เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา เอกสารตำนานโบราณระบุว่า พระแก้วมรกต และพระพุทธสิหิงค์ เคยประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งน่าจะเป็นที่วัดพระแก้วนั่นเอง
อีกวัดหนึ่ง ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือวัดช้างรอบ ตั้งอยู่บนเนินสูงสุดของเขตอรัญญิก เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ มีฐานสี่เหลี่ยมด้านล่างสูงใหญ่ประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัว จำนวน 68 เชือก เจดีย์ด้านบนเหลือเฉพาะฐานแปดเหลี่ยม และหน้ากระดานกลม ซึ่งพบหลักฐานว่ามีการประดับลายปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ และประดับรูปเทวดา นางฟ้า กินนร กินรี หงส์ อยู่ด้วย
และหากนักท่องเที่ยวต้องการนมัสการพระพุทธรูป ที่ยังมีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์ ก็ต้องแวะวัดพระสี่อิริยาบถ ซึ่งด้านหลังวิหารสร้างเป็นมณฑปแบบจตุรมุข กึ่งกลางทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมรับส่วนยอดหลังคา จากนั้นทำเป็นมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ผนังแต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อให้เว้าเข้าไป และประดิษฐานพระพุทธรูปแตกต่างกันในแต่ละด้าน คือ เดิน นั่ง ยืน นอน ปัจจุบันเหลือเฉพาะพระยืนขนาดใหญ่ทางทิศใต้ พระพักตร์เป็นศิลปะสุโขทัยหมวดกำแพงเพชร คือพระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม
นอกจากนี้ ยังมีวัดหรือแหล่งโบราณสถานอีกจำนวนมากที่น่าสนใจ และศึกษา แต่ถ้ารู้สึกเหน็ดเหนื่อยและกระหายน้ำ ก็สามารถหาซื้อ“เฉาก๊วยชากังราว” ที่ขึ้นชื่อของเมืองนี้ ละมีจำหน่ายทั่วไป มาดื่มให้ชื่นใจและช่วยให้กระปรี้กระเปร่าขึ้น หรือจะแวะไปกราบสักการะศาลหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตก็ได้
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากพักค้างคืนในกำแพงเพชรนั้น สามารถเลือกได้ทั้งแบบสะดวกสบายตามโรงแรม บ้านพักอุทยานแห่งชาติ หรือแบบสมบุกสมบัน กางเต๊นท์นอนในเขตอุทยานแห่งชาติก็ได้ ส่วนใครที่ยังไม่จุใจ หรือมีเป้าหมายอยากท่องธรรมชาติ ก็ขอแนะนำแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่บ้านแก่งเกาะใหญ่ ต.ปางมะค่า อ.ขาณุวรลักบุรี
ชาตรี ชูจิตร หัวหน้าโครงการการศึกษาศักยภาพชุมชนเพื่อการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านแก่งเกาะใหญ่ ระยะที่ 2 ฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บอกว่า แก่งเกาะใหญ่ เป็นชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางภูเขา และป่าไม้ ในเขต ต.ปางมะค่า และเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อระหว่าง จ.นครสวรรค์ กับกำแพงเพชร มีจุดเด่นหลายแห่ง เช่น แก่งน้ำตกเกาะใหญ่ อันเป็นเกาะพื้นดินขนาดใหญ่ ทอดตัวขวางลำน้ำแม่วงก์ ลักษณะคล้ายฝักถั่วลันเตา เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
น้ำตกซับหน้าผา เป็นน้ำตกขนาดเล็ก 3 ชั้น ซ่อนตัวที่ช่องเขา “มอยาว” ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ สูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 3 เมตร ตกสู่เบื้องล่างเป็นแนวดิ่ง ทำให้เกิดการกระเซ็นของละอองน้ำ นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นได้อย่างสบาย ขณะเดียวกันถ้าอยากทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกาย ก็สามารถขึ้นยอดเขาจกกบ ที่มีความสูงประมาณ 100 เมตรจากที่ราบบริเวณนั้น มียอดเขาสองยอดซึ่งไม่ห่างกันมากนัก บนสันเขามีก้อนหินขนาดใหญ่เรียงราย และมีชะง่อนหินยื่นออกมา เป็นจุดชมวิวได้อย่างดี โดยด้านทิศตะวันออก จะมองเห็นผืนป่าชุมชนและภูมิประเทศของ 6 หมู่บ้านหลังเขา รวมทั้งยังเป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ส่วนด้านทิศตะวันตก จะมองเห็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และถ้ามองลงไปข้างล่าง ก็จะเห็นแก่งลานนกยูง และลำน้ำแม่วงก์อย่างชัดเจนอีกด้วย
“จากศักยภาพของพื้นที่ และความพร้อมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว ทำให้ในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้าไปอย่างหนาแน่นมากขึ้น ก่อให้เกิดความคาดหวังของคนในชุมชน ที่อยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกลิ่นไอธรรมชาติ และรู้จักสภาพพื้นที่ภูมิประเทศของทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่น ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวก็จะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนให้ช่วยกันรักษาป่าชุมชนผืนใหญ่ที่สุดของกำแพงเพชรให้คงอยู่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น มีการสร้างรายได้เสริมจากการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน ช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต” ชาตรี กล่าว
ส่วนบรรยากาศการท่องเที่ยวในชุมชนแก่งเกาะใหญ่นั้น เริ่มต้นขึ้นอย่างคึกคัก โดยนำเอารถอีแต๊ก ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยว สร้างความแปลกใหม่และตื่นตาตื่นใจกันพอสมควร ซึ่งหากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็จะถูกแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละไม่เกิน 10 คน เพื่อให้สามารถบรรทุกในรถคันเดียวกัน และมีมัคคุเทศก์น้อยคอยให้คำอธิบายตามรายทางที่ผ่าน พร้อมทั้งตอบคำถาม ข้อสงสัยของนักท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง
“น้องเสก” มัคคุเทศก์จิ๋วประจำกลุ่ม เล่าว่า มัคคุเทศก์จิ๋วมีด้วยกันทั้งหมด 12 คน เป็นชาย 2 คน และหญิง 10 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้น โรงเรียนบ้านกอแก้วอนุสรณ์ ต.ปางมะค่า และส่วนใหญ่ผ่านการอบรมมัคคุเทศก์จากทางจังหวัดมาแล้ว ประกอบกับแหล่งท่องเที่ยวแก่งเกาะใหญ่ คือสภาพแวดล้อมใกล้ตัวที่พวกเขาได้สัมผัสมาตั้งแต่เกิด จึงสามารถทำหน้าที่ไกด์ได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร ที่มีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ หรือกิจกรรมในหมู่บ้าน ซึ่งมีการผลิตน้ำมันมินท์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย และรักษาอาการผื่นคัน แผลฝีต่างๆ หรือใช้เป็นยาดมได้อย่างดี บางแห่งก็เป็นสวนส้มโอ อันเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของแก่งเกาะใหญ่ ทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ลิ้มชิมรสหวานของส้มโอกันอย่างเอร็ดอร่อย
ประเสริฐ แจ่มไทย ผู้ใหญ่บ้านแก่งเกาะใหญ่ อธิบายเสริมถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อจัดการแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ว่า ที่ผ่านมามีเพียงการจัดการและรวมกลุ่มดูแลแก่งเกาะใหญ่ในช่วงเทศกาลที่มีคนเข้ามาท่องเที่ยว อาทิ ปีใหม่ สงกรานต์ แต่การท่องเที่ยวโดยภาพรวมในเส้นทางอื่นๆ ยังไม่มีการจัดการที่เป็นรูปธรรม ทางทีมวิจัยจึงได้นำข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมมาวางแผนจัดการ และจะจัดแบ่งหน้าที่ตามความเหมาะสม เช่น ฝ่ายบริหาร ฝ่ายการตลาด การประชาสัมพันธ์ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ฝ่ายกิจกรรมการท่องเที่ยว ฝ่ายต้อนรับ ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายผู้นำเที่ยว นักสื่อความหมาย ฝ่ายร้านค้า ฝ่ายที่พัก ร้านอาหาร และห้องน้ำ ฝ่ายรักษาความปลอดภัย
ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าเมื่อมีความชัดเจนดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้การจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนมีความเป็นไปได้ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ภูมิปัญญาดั้งเดิม และเกิดความรักสามัคคีในชุมชน ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างชุมชน นำไปสู่ความเข้าใจในการจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของชุมชนในที่สุด.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ประชาสัมพันธ์ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
โทร.0-2270-1350

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ