กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--การยางแห่งประเทศไทย
กยท. สนองนโยบาย กษ. ป้องชาวสวนยาง จำกัดใช้ 3 สารวัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส อย่างถูกวิธี เร่งต่อยอดอบรมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนชาวสวนยางกับ กยท. - มีสวนยางอายุไม่เกิน 5 ปี เกือบแสนคน พุ่งเป้าลดใช้ 3 สารในไทยให้น้อยลง เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายควบคุมการใช้ 3 สารวัตถุอันตรายที่ใช้ในการเกษตรกรรม ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้ แต่มีผลกระทบเรื่องการตกค้างของสารเคมีที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กยท.ในฐานะองค์กรกลางที่ดูแลการบริหารจัดการยางพารา จึงบูรณาการร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ส่งเจ้าหน้าที่ กยท. 175 คน เข้าอบรมหลักสูตร "ฝึกอบรมวิทยากร (ครู ข) เรื่อง การใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส" เพื่อจะได้เป็นวิทยากรที่มีความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ นำไปขยายผลอบรมเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มเป้าหมายอีกเกือบ 1 แสนคน ในการใช้วัตถุอันตรายดังกล่าว อย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงช่วยลดการใช้ทั้ง 3 สารในประเทศไทยให้น้อยลง เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. ได้รับเป้าหมายอบรมชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท. และมีสวนยางพาราอายุไม่เกิน 5 ปี จำนวน 90,000 คน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางยังมีความจำเป็นต้องใช้วัตถุอันตรายทั้งพาราควอต
ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส สำหรับอาชีพการทำสวนยางและการเกษตรอื่น และต่อไปการซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องแสดงหลักฐานการผ่านการฝึกอบรมและหรือผ่านการทดสอบการใช้วัตถุอันตรายจาก กยท. รวมถึงซื้อจากร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเท่านั้น ทั้งนี้จะสนองตอบต่อมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกัน บรรเทา และระวังอันตรายที่จะเกิดกับเกษตรกรชาวสวนยาง สัตว์ที่เลี้ยง พืชอื่น รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย